(8 มกราคม 2564) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผลักดันกิจกรรมสำคัญเร่งด่วน ๕ เรื่อง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้มีนโยบายในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนให้ “อว. เป็นหน่วยงานที่พัฒนา ประเทศโดยใช้ความรู้และพลังปัญญา” โดยจะขยายการดำเนินงานไปสู่พื้นที่ เน้นกลไกการทำงานเชิงรุกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการด้านการอุดมศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างรวดเร็ว
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อว. จะผลักดันกิจกรรมสำคัญเร่งด่วน 5 เรื่อง ดังนี้
1. ขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วประเทศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญของ อว. ในการปฏิบัติงานในพื้นที่และให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะใช้ศักยภาพมหาวิทยาลัย (อาจารย์/ นิสิต/ นักศึกษา/ องค์ความรู้) และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ “อว. ส่วนหน้า” ทำงาน เชิงรุก ปฏิบัติงานในพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศตามแนวทางขับเคลื่อนไทยไป ด้วยกันขยายผลจากฐานโครงการมหาวิทยาลัยสูตำบลปี 2564 ยกระดับตำบลที่มีความพร้อมไปสู่ระดับยั่งยืน นอกจากนี้ จะเน้นการมีส่วนร่วมและข้อเสนอของเยาวชนเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ ผ่านกลไก Hackathon และจะผลักดันเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน/ พื้นที่ โดยกลไก “มหาวิทยาลัยให้เป็นตลาด (University as Marketplace)” ให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของ อว. เป็นหน่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ประชาชนในพื้นที่สามารถสร้างรายได้
2. จัดตั้งวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) เน้นขับเคลื่อนพัฒนาวิชาการ วิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะบูรณาการขับเคลื่อนและขยายผลธัชชาให้เกิดความยั่งยืน สร้างสมดุลทางวิชาการและเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยแบบสหวิทยาการ เชื่อมโยงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในเบื้องต้นประกอบด้วย ๕ สถาบัน คือ สุวรรณภูมิศึกษา, เศรษฐกิจพอเพียง, โลกคดีศึกษา, ศูนย์พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และศูนย์ช่างศิลป์ท้องถิ่น
3. สนับสนุนและขับเคลื่อนการวิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยแบบมุ่งเป้าที่เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ และนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้แก้ไขปัญหาเร่งด่วน
(3.1) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และเดินหน้าสร้างความมั่นคงของประเทศด้านสุขภาพ สามารถพัฒนาเพื่อผลิตยา วัคซีน และนวัตกรรมทางการแพทย์ได้เอง มีอุตสาหกรรมการแพทย์ สาธารณสุขที่พึ่งพาตัวเองได้ โดยมีตัวอย่างผลงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมที่ผ่านมา เช่น วัคซีน ชุดตรวจนวัตกรรมทางการแพทย์
(3.2) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม เช่น PM 2.5 ภัยแล้ง การอยู่กัน ของคนทุกช่วงวัย พลังจากผู้สูงอายุ - เปลี่ยนคนเกษียณเป็นพลัง
(3.3) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริม Bio-Circular-Green (BCG) Economy โดยมุ่งเน้นการบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย และเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์
(3.4) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับการพึ่งพาตนเอง แปลงทุนวัฒนธรรมสูสินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
4. ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างองค์ความรู้ขั้นสูง พันธมิตรทางยุทธศาสตร์และวางรากฐานให้ประเทศ มุ่งให้เกิดการร่วมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการเชื่อมโยงประเทศไทยกับนานาชาติ ผ่านกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เช่น ความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสำรวจอวกาศและดาราศาสตร์, โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวิจัยด้านแสงซินโครตรอนชั้นแนวหน้าของโลก, เมืองนวัตกรรมอาหาร, คลังข้อมูลสารสนเทศการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
5. พลิกโฉมระบบการอุดมศึกษาของไทย และสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ในทุกระดับและทุกระบบ เพื่อขับเคลื่อนและปลดล็อกข้อจำกัดและส่งเสริมระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(5.1) พลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของไทย (Reinventing University) โดยผลักดันมหาวิทยาลัยให้สามารถพัฒนาความเป็นเลิศตามความชำนาญและจุดมุ่งเน้นของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย ผ่าน 5 กลไก ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาและแสวงหาบุคลากร ความเป็นนานาชาติ การบริหารงานวิจัย และนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความชัดเจนในภารกิจและสามารถ ดำเนินการให้เกิดผลตามที่มุ่งไว้
(5.2) สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับและทุกระบบโดยผลักดันระบบ ตำแหน่งทางวิชาการในรูปแบบใหม่ (ศาสตราจารย์ปฏิบัติ/ ศาสตราจารย์วิจัย/ ศาสตราจารย์ด้านการสอน) ให้ทุนพัฒนาบุคลากรและเส้นทางอาชีพ สนับสนุนให้ภาคประชาชนและสังคมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการอุดมศึกษา และสนับสนุนให้เกิดประชาชนนักวิจัย บูรณาการการให้ทุนการศึกษา/ ทุนวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สนับสนุนและขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น นักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดชายขอบ และนักศึกษาผู้พิการ
(5.3) พัฒนาบุคลากรการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาครูในทุกระดับ รวมทั้งครูอาชีวะ และสนับสนุนการเตรียมเยาวชน เช่น จัดตั้งสาธิตอาชีวะ เป็นต้น
(5.4) พัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยผ่านระบบการอุดมศึกษาที่ทันสมัย มีคุณภาพ พัฒนารูปแบบ การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มคน พัฒนาเยาวชน นิสิต นักศึกษาให้เป็นพลังของชาติ เสริมสร้างทักษะเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ สร้างความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยพัฒนาการศึกษาแบบผสมผสานในสถานการณ์ COVID-19, จัดทำหลักสูตร Upskill/Reskill ในลักษณะ non-degree เพื่อพัฒนาทักษะ และสร้างความพร้อมให้กับประชาชนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ
(5.5) สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ อย่างทั่วถึง ส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูลในท้องถิ่น สร้างแรงบันดาลใจที่จะนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
(5.6) เสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ โดยเฉพาะใน CLMV ทั้งด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดการพัฒนาของภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุน เกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกาและยุโรป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.