เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งมอบ “ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID - 19” จากผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผลงานนวัตกรรมจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID - 19” ให้แก่เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และกระทรวงสาธารณสุขรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานส่งมอบ “ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID – 19” ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผลงานนวัตกรรมจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID – 19” ให้แก่เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และกระทรวงสาธารณสุข โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวต้อนรับ
รมว.อว. กล่าวว่า “วันนี้มาเป็นประธานร่วมในการมอบหน้ากาก PAPR ช่วยป้องกันเชื้อที่จะเข้าไปในจมูก ในปาก และในร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะว่ามีความดันบวกเชื้อโรคก็เข้าไม่ได้ เดิมหน้ากากนี้ซื้อกันในราคาหลายหมื่นจนไปถึงเป็นหลักแสนบาท แล้วในช่วงวิกฤติหนัก ๆ ที่มีโรคระบาดหนัก ๆ ก็ไม่สามารถหาซื้อได้อีก เพราะว่าประเทศที่ผลิตเขาไม่ขาย เขาเก็บเอาไว้ใช้เอง ที่นี้เราทำขึ้นมาได้สำเร็จในราคาที่ถูกมาก ๆ มีตั้งแต่แบบ 4,000 บาท จนถึง 9,000 บาท แบบที่เห็นนี่คือแบบ 9,000 บาท เป็นราคาที่รวมถึงเครื่องพ่นออกซิเจนด้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นประดิษฐ์กรรมระดับโลก เนื่องจากคุณภาพก็ไม่ได้แพ้ของที่ผลิตกันอยู่ในโลก ซึ่งบางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ส่วนราคานี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะสามารถผลิตได้ถึง 1 ใน 10 ที่เขาพูดถึงกันเลย อันนี้ก็เป็นอะไรที่น่าดีใจ เพราะว่าต่อไปในอนาคตก็อาจจะมีโรคระบาดอื่นมาอีก เราก็จะยิ่งพร้อมมากขึ้น และเมื่อไปคิดรวมกับที่วัคซีนเราก็ทำได้แล้ว จึงทำให้มีความมั่นใจว่า หมอและพยาบาล นักสาธารณสุขที่เก่งอยู่แล้วก็จะมีอุปกรณ์ มีวัคซีน มีเครื่องมือป้องกันส่วนบุคคลที่สามารถผลิตเองได้ในประเทศและมีคุณภาพสูง ส่วนผู้ที่ประดิษฐ์หน้ากาก PAPR นี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นอาจารย์หมอทางด้านวิสัญญีแพทย์ อยู่ในห้อง ICU ท่านไม่เคยมีการฝึกอบรมอะไรที่จะมาเป็นนักประดิษฐ์ นักวิจัยนวัตกรรม ท่านคิดจากสิ่งที่ท่านมีความรู้อยู่ ประสบการณ์ที่ท่านเคยใส่เครื่องมือต่าง ๆ ใส่ชุดป้องกันตนต่าง ๆ แล้วก็คิดในเวลารวดเร็ว ซึ่งท่านได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และนักวิชาการอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนั้นเรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคีของนักวิจัยคนไทย ของนักวิชาชีพไทย วิกฤติโควิดในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความสามารถ ไม่ใช่เพียงแค่ในการรักษาหรือป้องกันโรคระบาดเพียงเท่านั้น ยังสามารถผลิตวัสดุ อุปกรณ์ ยาวัคซีน ที่จะมาต่อสู้กับโรคได้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี”
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และ นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย เผยชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง ได้ส่งมอบชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID – 19 ให้แก่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ
สำหรับนวัตกรรมชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง หรือนวัตกรรมชุด PAPR นั้น เป็นผลงานจากสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นนวัตกรรมชุดพัดลมและหน้ากากครอบศีรษะ ซึ่งหน้ากากครอบศีรษะจะทำงานร่วมกับพัดลมขนาดเล็กที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีดูดลมผ่านไส้กรองอากาศคุณภาพสูงหรือเฮปปา (HEPA Filter) เพื่อกรองอนุภาคและไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ขนาด 0.3 ไมครอน นวัตกรรมชุด PAPR ผ่านการทดสอบการรั่วซึมจากบริษัท Q&E International และได้รับใบรับรองความปลอดภัย 100% จากบริษัทดังกล่าว โดยมีต้นทุนราคาชุดละ 9,000 บาท มีอายุการใช้งาน 180 วัน ซึ่งสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย มีเป้าหมายการส่งมอบนวัตกรรมชุด PAPR นี้จำนวน 450 ชุด ให้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข
พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบ “อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID– 19” ให้แก่ รศ.นพ. สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.