03 กุมภาพันธ์ 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือ แนวทางการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบการผลิตบัณฑิตโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของคณะเกษตรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรี นายสำราญ รอดเพชร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการอุดมศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงฯ เข้าร่วมหารือกับผู้บริหารที่รับผิดชอบหลักสูตรของคณะเกษตรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ 166 คณะ/ภาควิชา ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถนนศรีอยุธยา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวในการประชุมว่า ปัจจุบันศาสตร์ด้านการเกษตรกำลังถูกเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เพราะมีศาสตร์หรือเทคโนโลยีชั้นสูงอื่นๆ ทั้งเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) , อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotic industry) , Ai, IOT หรือการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้าไปชักจูง โน้มน้าว เร่งให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (disruptive change) เร็วขึ้น แม้แต่เรื่องพันธุ์พืชก็สามารถใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ (mutation) ที่รวดเร็วมาก คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะเกษตรศาสตร์ น่าจะต้องมีการทำงานร่วมกัน เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่จะไปสนับสนุนภาคการเกษตรมากขึ้น ลงพื้นที่ไปในชุมชนก็ให้มีการปฏิบัติมากขึ้น ทำเองด้วยมือให้มากขึ้น อย่าสนใจแต่เพียงทฤษฎีหรือห้องเรียนเท่านั้น ควรได้เรียนรู้จากเกษตรกร เรียนรู้เรื่องชุมชน ภูมิสังคม ภูมิวัฒนธรรมต่างๆ
รัฐบาลผลักดันให้เรื่อง BCG เป็นวาระแห่งชาติของปีนี้ และปีหน้ารัฐบาลจะนำเรื่อง BCG เข้าที่ประชุม APEC เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสนใจเรื่อง BCG เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกษตรรวมกับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเราจะนำเอาภาคเกษตรมารวมอยู่ด้วย เพราะคนไทยอยู่ในภาคเกษตรมาก ปัจจุบันเรายังทำเกษตรแบบ 6 พืชหลัก หรือพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน อ้อย ซึ่งถ้าเราสามารถชักนำให้เกษตรกรที่ปลูก 6 พืชหลัก ไปทำเกษตรในระดับพรีเมี่ยมได้ ก็จะทำให้ภาคเกษตรของไทยสามารถรวมกับภาคอื่นๆที่อยู่ใน BCG ได้ และจะเป็นเกษตรที่พอเพียง ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงด้วย
รมว.อว. กล่าวต่อไปว่า เรามีคณะเกษตรหรือคณะที่ทำเรื่องเกษตร ที่มีนวัตกรรม มีความก้าวหน้า มีความสนใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการเกษตร ดังนั้นเราจะโยงไปให้ถึง BCG อย่างไร เราต้องทำให้นักศึกษาเกษตรและเกษตรกรของเรามีแรงผลักดัน มีการเรียนรู้ที่ดี รู้จักเทคโนโลยี รู้จักตลาด รู้จักนวัดกรรมตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับ advance และต้องสนใจเรื่อง เกษตรแม่นยำ smart faming เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ก็จะนำไปสู่ green economy, circular economy มากขึ้น การเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้เกิด productivity เพิ่มเป็นเท่าทวีคูณและจะนำไปสู่เกษตรที่มีมูลค่าสูงได้มาก ซึ่งต้องใช้เทคนิคของอุตสาหกรรม 4.0, deep tech, โดรน, ดาวเทียม และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยคำนึงถึงเกษตรกร ซึ่งคงจะเป็นเทคโนโลยีระดับพื้นฐาน ระดับปานกลาง แต่ก็ไม่ละเลยที่จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
“เราต้องสร้างหลักสูตรบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้เป็นเกษตรแบบ BCG มากขึ้น ขอฝากคณะเกษตรศาสตร์ คณะที่คิดเรื่องเกษตร หรือแม้กระทั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ช่วยกันคิดหลักสูตร non degree ขึ้นมาเพื่อจะยกระดับเกษตรของเราให้ขึ้นไปรับใช้ BCG ให้ได้มากขึ้น และต้องบวกไปกับ good leadership คือต้องมีผู้นำ ต้องสร้างผู้นำขึ้นมา ให้เป็นผู้นำที่จะทำให้เทคโนโลยีหรือวิสัยทัศน์เหล่านี้ปรากฎเป็นจริง อาจจะใช้บัณฑิตพันธุ์ใหม่เข้าไปร่วม ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักสูตร 4 ปี ขอให้คิดหลักสูตรสั้นๆ ด้วย และเข้าสู่ภาคปฏิบัติเลย ให้เรียนไป สนุกไป หาเงินได้ เพื่อให้การเกษตรเป็นของคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และขอให้ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ที่จะสามารถนำสรรพวิชาความรู้ที่มีอยู่ใน อว.ไปช่วยเกษตรกรรมและเกษตรกร เพื่อให้ BCG ของประเทศแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ดร.เอนก กล่าวในตอนท้าย
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
ข้อมูลข่าว : ปิยาณี วิริยานนท์ / วีนัส แก้วประเสริฐ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโทรศัพท์
0 2039 5609 Facebook : @opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.