กระทรวง อว. ชูนโยบายนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จริง โชว์ผลงานวิจัย “Space Walker” นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ลดการนำเข้าและยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้าน TED Fund เปิดโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) ปี 2 พัฒนาเยาวชนไปสู่สตาร์ทอัพ มุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ดีเดย์เปิดรับสมัครมีนาคมนี้ พร้อมจัดตั้ง “TED Fellow” เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ 32 แห่งทั่วประเทศ เปิดแนวรุกกระจายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพทั่วประเทศ
ผศ.ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของกระทรวง อว. คือ การวางรากฐานในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการมุ่งเน้นให้นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ด้วยการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งผลให้เกิดการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) โดยเปลี่ยนจาก “Made in Thailand” เป็น “Innovated in Thailand” เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และในปี 2564 นี้ กระทรวง อว. ยังได้มุ่งเน้นในการสร้างคนควบคู่ไปกับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้และดำเนินธุรกิจบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเปลี่ยนนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ
“โดยปกติแล้วการจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรม จะถูกจัดสรรผ่านกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ไปยังนักวิจัยทั่วประเทศ ผ่านหน่วยบริการจัดการโปรแกรม (pmu) และจัดสรรตรงไปยังมหาวิทยาลัย ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือต้องการนำผลงานวิจัยออกมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ กระทรวง อว. ก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกันจึงมีการสนับสนุนทุนผ่าน TED Fund”
ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 - 4 ปีที่ผ่านมา TED Fund ได้สนับสนุนเงินทุนไปแล้วจำนวน 259 โครงการ ในวงเงินงบประมาณรวมกว่า 360 ล้านบาท สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 650 ล้านบาท นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของประเทศไทย ในการที่จะสร้างฐานนักรบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลก และกระทรวง อว. โดย TED Fund จะเร่งสปีดในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายเชิงรุก โดยตั้งเป้าสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการกว่า 300 โครงการในปี 2564
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และประธานกรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เปิดเผยว่า สำหรับปีงบประมาณ 2564 นี้ TED Fund เตรียมเปิดโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Youth Startup Fund ปี 2 ในเดือนมีนาคมนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และมุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) คือ นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี - ปริญญาเอก และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ที่ต้องการขอรับการสนับสนุนทุนในการนำผลงานวิจัยออกมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ หรือสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดย TED Fund จะสนับสนุนทุนในวงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อราย
นอกจากนี้คณะผู้บริหารกองทุนฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการทั่วประเทศ จึงได้จัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ TED Fellow จำนวน 32 หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนครอบคลุมทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคกลาง จำนวน 15 หน่วยงาน, ภาคเหนือ จำนวน 7 หน่วยงาน, ภาคอีสาน จำนวน 5 หน่วยงาน และภาคใต้ จำนวน 5 หน่วยงาน โดย TED Fellow จะมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาวางแผนและบริหารการจัดการโครงการ การตลาด การประชาสัมพันธ์ รวมถึงประสานงานระหว่าง TED Fund กับผู้รับการสนับสนุนทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถมีความรู้พื้นฐาน นำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้สำเร็จ
ด้าน ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น แบ่งโปรแกรมการสนับสนุนออกเป็น 2 โปรแกรมสำคัญ ดังนี้
1. โปรแกรม Ideation Incentive Program (IDEA) เป็นทุนอุดหนุนแบบให้เปล่า เพื่อเป็นค่าพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 6 เดือน โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ในสัดส่วนร้อยละ 100
2. โปรแกรม Prove of Concept (POC) ทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อพัฒนาต้นแบบซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้วงเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นนักศึกษาซึ่งมีสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี พร้อมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศ
ด้านนายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจาก TED Fund ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ “Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด กล่าวว่า ผมได้นำงานวิจัยของตัวเองจากทำวิทยานิพนธ์ ของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการออกแบบโครงช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน โดยทุนสนับสนุนจาก TED Fund ได้เข้ามาช่วยใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. สนับสนุนการวิจัยสร้างอุปกรณ์ต้นแบบอุตสาหกรรม : ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ฝึกเดิน และทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรม
2. จัดทำโรงงานมาตรฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ : ช่วยเหลือและสนับสนุนในการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในการขอรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 Series และ 3. ที่ปรึกษาด้านการตลาด : ช่วยเหลือและสนับสนุนในการวางแผนธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาด เพื่อพัฒนาธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์สามารถแข่งขันในตลาดได้จริง โดยล่าสุดมีแผนที่จะต่อยอดด้วยการสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ “WOKA” อีกด้วย
ซึ่งจากการสนับสนุนดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันนวัตกรรม “Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด มีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศที โดยราคาอุปกรณ์กายภาพบำบัดของต่างประเทศที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกันมีราคาสูงถึง 5 ล้านบาท แต่ลักษณะการทำงานไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านเรา โดยบริษัทสามารถผลิตได้ในราคาประมาณ 6 หมื่นบาทเท่านั้น และออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในงานในบ้านเรา ซึ่งเป็นลักษณะของการฝึกที่บ้าน เพราะเรามองว่าการกายภาพบำบัดต้องมีความต่อเนื่อง หรือทำเป็นประจำทุกวัน โดยปัจจุบันได้ผลิตและจำหน่ายไปยัง 60 สถานพยาบาลทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ส่งออกผลต่อการยืน/เดิน และ กายภาพบําบัดในผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาตครึ่งท่อน พาร์กินสัน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครทุนได้ที่ www.tedfund.mhesi.go.th หรือเพจ Facebook : TED Fund หรือโทร 02 333 3700 ต่อ 4072-4074
********************************
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.