วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) พร้อมผู้บริหารกระทรวง อว. ให้การต้อนรับและรายงานความคืบหน้าของโครงการ BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร
การนำเสนอสรุปภาพรวมการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาสนองนโยบาย BCG Model พัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการแข่งขันในระดับโลก และนำเสนอตัวอย่างผลงานที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ โดย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดังนี้
1. การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อน้ำตาลไอโซมอลทูโลส นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “น้ำตาลพาลาทีน” ให้แก่ บริษัท อีทเวลล์ จำกัด (บริษัทในเครือน้ำตาลราชบุรี) ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติเด่น คือ ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและนักกีฬา ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำตาลพาลาทีน มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปและโรงพยาบาล โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และจะมีการขยายตลาดเพื่อการส่งออก
2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาสีฟันซอลส์ตรีผลาและแชมพู FALLES ยาสีฟันสูตรเกลือและสมุนไพรที่มีความโดดเด่น และแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ด้วยการผสานคุณค่าสารสกัดสมุนไพรอายุรเวทตรีผลา (TPL Active Agent) ผ่านกระบวนการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) และผสานเข้ากันกับเกลืออณูเล็กเข้มข้น (Hypertonic Salt) สารสกัดชะเอมเทศ (DPG) และฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงในการดูแลสุขภาพเหงือก ช่องปาก ฟันแข็งแรง ปัจจุบันยาสีฟันตรีผลามีมูลค่าการตลาดประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี และมีการต่อยอดใช้สารสกัดตรีผลาในการพัฒนาเป็น ผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผม FALLES ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี โดย วว. ทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านเป็นผู้ผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัทไลอ้อนฯ นอกจากนั้นยังมีการสกัดสมุนไพรอัตลักษณ์อื่น ๆ เช่น ใบหมี่ มะไฟจีน เป็นต้น
3. ไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหินมาเพิ่มมูลค่าร่วมกับก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซมีเทน และกลีเซอรอลดิบ ในการผลิตไบโอเมทานอลระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบัน บริษัท BLCP power เป็นพันธมิตรภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ
ผลงานวิจัยจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทย เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปช่วยขับเคลื่อน BCG โมเดล นโยบายของรัฐบาลให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืน
เผยแพร่ข่าว : นายธัชนนท์ บุญหล้า
ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักบริหารกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.