1 มีนาคม 2564 ศาสตรจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีฯและโฆษกกะทรวง นำคณะผู้บริหารกระทรวงเข้าเยี่ยมชมโรงงานและรับฟังภาพรวมของการดำเนินงานบริษัท และการสนับสนุนจากกระทรวงฯ ณ กลุ่มบริษัทโชคนำชัย จังหวัดสุพรรณบุรี
กลุ่มบริษัทโชคนำชัย และบริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด เป็นผู้ประกอบการที่ได้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ชั้นสูงมาสู่งานนวัตกรรมทางด้านยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสนองตอบตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมและผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ส่งเสริมการใช้ Core Technology ชั้นสูง และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น โดยได้มีความร่วมมือรวมทั้งได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และส่งเสริมในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นยานพาหนะสมัยใหม่และสามารถผลิตและจำหน่ายต่อในเชิงพาณิชย์ได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำการพัฒนา ได้แก่ เรืออลูมิเนียม, เรือโดยสารไฟฟ้า, รถมินิบัสอลูมิเนียม 7 เมตร, รถบัสไฟฟ้าอลูมิเนียม, ระบบแคร่ รถไฟ นอกจากนี้บริษัทยังมุ่งพัฒนาในรูปแบบ Supply chain โดยมีนโยบายที่จะรวบรวมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการผลิตมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทย ยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาและแข่งขันในระดับสากลได้
รมว.อว. กล่าวว่า การได้มาเยี่ยมชมบริษัทในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำให้เชื่อมั่นได้ว่าคนไทยเก่ง มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่น และเยอรมัน นอกจากนี้ในด้านของราคายังสามารถแข่งขันกับประเทศจีนได้อีกด้วย อว.จะต้องเข้ามาช่วยให้เราสามารถแข่งขันในด้านคุณภาพกับประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ การที่บริษัทนำความต้องการของตลาดเป็นที่ตั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้าง Supply chain ไปเคียงคู่กัน จะทำให้อุตสาหกรรมที่เป็นตัวต่อเชื่อมต่างๆเดินหน้าไปเป็นขบวน หากทำได้จะสามารถยกระดับการพัฒนาในด้านต่างๆไปพร้อมกันได้
หน่วยงานต่างๆใน อว. จะต้องเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังสามารถเข้ามาเรียนรู้จากบริษัท สร้างความร่วมมือร่วมกัน บริษัทนี้คืออุตสาหกรรมที่เราอยากเห็น เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการ เราทำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทั้งหลายนี้ก็ด้วยความตั้งที่จะให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ อยากให้งานที่เราทำสามารถเข้ามาต่อเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรมได้ จึงอยากให้กระทรวง อว. เข้ามาช่วย เข้ามาเรียนรู้ งานวิจัยจะได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ข้อดีทั้งหมดไม่ใช่แค่เพียงเราทำได้เท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้ประเทศประหยัดงบประมาณ ช่วยให้ไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวขึ้นไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เราสามารถทำอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากนี้ไปสู่ระดับโลกได้
ขณะเดียวกันก็จะให้ สอวช. จัดทำแนวนโยบายที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศต้องสนับสนุนบริษัทที่สามารถเป็น national champion สร้างแบรนด์ของประเทศ เช่นเดียวกับบริษัทในประเทศอื่นๆ และบริษัทเหล่านี้ก็จะทำในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะด้วย จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด ประเทศจะเจริญก้าวหน้าได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ อว. หรือนักวิจัยเพียงเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมด้วย ภาคเอกชนต้องคิดใกล้เคียงกับรัฐ เป็นเครื่องมือให้กับรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐจึงต้องสนับสนุนภาคเอกชนด้วย ต้องเปลี่ยนแนวคิดของผู้นำทั้งส่วนราชการ ผู้นำทางการเมือง จะต้องใช้ของไทย ซื้อของไทย เราต้องช่วยกัน ขอขอบคุณในการต้อนรับและหวังว่าจะเป็นความร่วมมือที่ดีของกระทรวงต่อไป อว.มีคนเก่งเยอะแต่จะต้องเอามาบรรจบกับภาคอุตสาหกรรมให้ได้ รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
จากนั้นคณะเยี่ยมชมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารของบริษัทเกี่ยวกับความร่วมมือและความต้องการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ รวมถึงด้านการศึกษาที่ขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่มีการจัดส่งนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้และฝึกงานกับบริษัท และในอนาคตอาจมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้นักศึกษามีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์หลังจากจบการศึกษาแล้ว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.