ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมยินดีกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่สามารถปิดโรงพยาบาลสนามได้แล้วหลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและส่งผู้ติดเชื้อกลับบ้านได้ พร้อมมอบนโยบายรับมือและแก้ไขสถานการณ์โควิด–19 ในภาพรวมของกระทรวง อว. สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน รวมทั้งได้ขอบคุณบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนามที่ทำงานอย่างสุดกำลังจนสถานการณ์โดยรวมดีขึ้นหลังรับผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 486 คน ซึ่งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ถือเป็นแห่งแรกของกระทรวง อว. ที่สามารถส่งผู้ป่วยออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามได้หมด แต่พร้อมที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งหากเกิดการระบาดระลอกใหม่
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ ศ. ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ เข้าร่วมการปิดโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ “ขอบคุณทุกดวงใจ ร่วมสู้ภัยโควิด 19” พร้อมกับ รศ. ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย และ นายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภอสันทราย
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวใจความตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เปิดดำเนินการเมื่อ 13 เมษายน 2564 และ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา รมว.อว. ได้ไปให้กำลังใจกับบุคลากรที่ทำหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในสังกัดกระทรวง อว. ได้เห็นถึงความตั้งใจ เสียสละ ทุ่มเทของบุคลากร ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย อาสาสมัคร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันแก้วิกฤตในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกท่านทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก ทั้งบุคลากรของ อว. ราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นที่นำโดยนายอำเภอสันทราย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแม่โจ้ถึงแม้ว่าไม่มีคณะแพทยศาสตร์ แต่สามารถทำงานร่วมมือประสานกับแพทย์สาธารณสุข โรงพยาบาลสันทราย ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี พี่น้องชาวเชียงใหม่ควรจะดีใจที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ เพราะไม่เพียงทำหน้าที่แค่การสอนหรืองานวิจัย หากในยามคับขัน บ้านเมืองมีปัญหา ก็สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ เพราะตอนที่เชียงใหม่เกิดวิกฤตหนัก ในวันที่ต้องการโรงพยาบาลสนามเพิ่มซึ่งหาได้ไม่ง่าย ในยามนั้นเหมือนกองทัพกำลังจะแพ้แต่มหาวิทยาลัยแม่โจ้กลับเป็นกองหนุนที่เหนือความคาดหมาย เปิด รพ.สนามได้ในเวลา 48 ชม. ช่วยแก้ไขสถานการณ์วิกฤตเชียงใหม่ให้ดีขึ้น และขอส่งกำลังใจไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ปรับหอพักนักศึกษาหญิง 5 ให้เป็นโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ 2 และเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อจากโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่เข้ามารักษาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 พร้อมยังจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน EOC (Emergency Operation Center) เพื่อเป็นศูนย์รวมของการดูแลและช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรด้วย ขอบคุณมากครับ
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ฯ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการระดมบุคลากรและทรัพยากร ดำเนินการบูรณาการงาน อว. เข้ากับงานของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ อว. ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เกิดจากมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งบุคลากร อาคารสถานที่ เครือข่าย องค์ความรู้ การค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรมดังนั้น ในยามวิกฤตจึงพร้อมจะใช้ทุกอย่างให้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมพลังกันเป็นกองหนุนเพื่อช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ การที่ทุกหน่วยของ อว. ร่วมมือร่วมใจกันเปิดโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรมหาวิทยาลัย อาสาสมัคร และบุคลากรด้านสาธารณสุขของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นประชาคมชาวเชียงใหม่และเครือข่ายชาว อว. ได้ร่วมกันสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนร่วมกันลงมือทำงานเพื่อประชาชน การจัดตั้งและให้บริการโรงพยาบาลสนามของ อว. และการให้บริการภายใต้การดูแลของจังหวัดประสบความสำเร็จ สามารถบรรเทาปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง และผ่อนคลายไปเรื่อย ๆ จนสามารถปิดโรงพยาบาลสนามได้อย่างเป็นทางการ ถือเป็นแห่งแรกของกระทรวง อว. ที่สามารถส่งผู้ป่วยออกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามได้หมด เพื่อไปพักที่ Hospitech ก่อนกลับบ้านซึ่งเป็นภารกิจที่ลุล่วงท่ามกลางความปิติยินดีของทุกฝ่าย
ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดรองรับผู้สัมผัสเชื้อที่ผ่านการคัดกรองกระบวนการทางการแพทย์มาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2564 บรรจุเตียงได้ 420 เตียง ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้รับการสนับสนุนการบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ประจำวันจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ศิษย์เก่า และประชาชนอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มกำลังในการช่วยกันสู้ภัยโควิด-19 ให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งยอดการใช้เตียงสะสม ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เหลือเพียง 18 เตียง
สำหรับมาตรการรองรับในระยะยาวทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกับ โรงพยาบาลสันทรายและอำเภอสันทราย จัดตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยส่วนขยาย (สถานพักฟื้นและดูแลสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : MJU Well-beling Hospitech) เพื่อรองรับการรักษาผู้สัมผัสเชื้อ ซึ่งจะเน้นในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มผู้พิการตามความเห็นของแพทย์ กลุ่มผู้สัมผัสเชื้อทั้งครอบครัว หรือเด็กเล็กที่ต้องมีผู้ติดตามดูแล ตามความเห็นแพทย์ และกลุ่มผู้สัมผัสเชื้ออื่น ๆ ตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ โดยโรงพยาบาลสันทรายเป็นผู้วางระบบบริหารจัดการและปฏิบัติงานด้านการแพทย์ ด้านอำเภอสันทรายจะสนับสนุน ประสานงาน อำนวยความสะดวก ด้านปกครองท้องถิ่น ชุมชนในอำเภอสันทราย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวของ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้จัดเตรียมสถานที่ โดยทำงานร่วมกันของวิทยาลัยนานาชาติและคณะพยาบาลศาสตร์ ปรับปรุงห้องพักของศูนย์การศึกษาและการฝึกอบรมนานาชาติ จำนวน 100 เตียง พร้อมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะย้ายผู้สัมผัสเชื้อที่เหลือเข้าพักฟื้นที่ MJU Well-beling Hospitech ในวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564
นอกจากเรื่องราวที่สร้างความปิติยินดีนี้ ในยามที่การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวง อว. ยังคงเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ รวม 50 แห่ง มีเตียงที่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 10,160 เตียง และขยายได้มากขึ้นถึง 12,822 เตียง ปัจจุบันใช้งานอยู่ที่ 2,047 เตียง คงเหลือ 8,113 เตียง และมีอีกหลายบริเวณที่ยังดูแลผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น จากการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะของจังหวัดสมุทรปราการ ยังพบว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงอยู่ กระทรวง อว. โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ศูนย์สมุทรปราการ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการและโรงพยาบาลบางพลี จัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก โดยการดัดแปลงหอพักนักศึกษา จำนวน 2 อาคาร สามารถขยายสูงสุดได้ 850 เตียง และเตรียมหอประชุมเป็นโรงพยาบาลสนามอีก 120 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตจากภายในจังหวัดสมุทรปราการและจะรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจาก กทม. และปริมณฑลด้วย
กระทรวง อว. ย้ำ “ยังคงมุ่งมั่นและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและทุกภาคส่วน ทั้งด้านข้อมูล การวิจัยและนวัตกรรม และการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนามในสังกัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็เพื่อร่วมฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.