วันที่ 13 พ.ค. 2564 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะ อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้มารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ว่า วัคซีนที่ดีที่สุดไม่ใช่อยู่ที่ยี่ห้ออะไร แต่คือชนิดที่มีอยู่และฉีดได้เร็วที่สุด ตนขอยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่มีในประเทศไทยเวลานี้ ดีหมด ใช้ได้หมด ประสิทธิผลสูงเท่าๆ กัน และผลข้างเคียงมีน้อยมาก ขณะนี้ ฉีดมาร่วม 2 ล้านโดส ยังไม่มีใครเสียชีวิต แต่ทุกวันนี้มีคนตายจากโควิด -19 วันละหลายสิบคน แม้ว่าผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ยังมีอัตราคงที่ทุกวัน แต่ก็มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นที่โน่นที่นั่นบ่อยๆ ดังนั้น ในภาวะที่ไทยเริ่มจะมีวัคซีนแล้ว วิธีการหยุดยั้งการระบาดที่ดีที่สุด คือการระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด ดังนั้น “วัคซีนที่ดีที่สุด” ไม่ใช่มามัวเลือกยี่ห้อวัคซีน แต่อยู่ที่รีบไปฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนก็ได้ให้เร็วที่สุด
ดร.เอนก กล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนก้าที่ไทยมีอยู่ 60 กว่าล้านโดสนั้น ถึงได้ไปเพียงเข็มเดียวก็มีฤทธิ์น้อยกว่าสองเข็มไม่เท่าไร ฉีดเข็มเดียวฤทธิ์แรงเกือบเท่าสองเข็ม ถ้าเป็นตนและเลือกได้ ก็จะรับวัคซีนตัวนี้แหละ แต่ที่ดีกว่าคือเขามีวัคซีนอะไรที่ฉีดให้เราได้ก่อนเป็นเข็มแรก ก็รับชนิดนั้นไปเลย ดีที่สุด
สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีน ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้หลักการสำคัญ คือ
ปูพรม - ฉีดวัคซีนให้มากที่สุด มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้รับบริการเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ได้แก่ ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะ เช่น พนักงาน ขสมก. ฯลฯ
ปลอดภัย - ให้วัคซีนที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ลดความเสี่ยง ดำเนินการโดยทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีการเตรียมระบบให้วัคซีนที่ปลอดภัยและครบถ้วนในทุกขั้นตอนจนถึงการดูแลและสังเกตอาการ
ประสิทธิภาพ - กระบวนการรับวัคซีน มีการนำเทคโนโลยีจากนวัตกรรมของคนไทย เช่น เป็ดไทยสู้ภัย QueQ เข้ามาใช้ในการจองคิวล่วงหน้า เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสาธารณสุขของประเทศผ่านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีระบบการลงทะเบียนเป็นกลุ่ม (Group Registration) เพิ่มศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมาก และเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
รมว.อว. กล่าวยืนยันอีกว่า อว. พร้อมฉีดวัคซีนให้คนของตนซึ่งทั่วประเทศมีกว่าสองล้านคน นับรวม นิสิต นักศึกษา ทุกชั้นทุกระดับ และรวมถึงนักเรียนโรงเรียนสาธิตทุกแห่ง และพร้อมที่จะช่วยฉีดให้คนนอกมหาวิทยาลัยด้วย
ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ถ่ายภาพวีดิโอ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.