(20 พฤษภาคม 2564) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ ร่วมยินดีกับ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ประกาศปิด “NU Hospitel” แห่งที่ 2 ได้แล้ว หลังการระบาดจังหวัดพิษณุโลกเริ่มคลี่คลาย แต่ให้เฝ้าระวังหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ต้องพร้อมที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้ง นอกจากนั้นให้เตรียมพร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนโควิด-19
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมในความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความทุ่มเท ที่จะช่วยทำให้ประเทศ ทำให้จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง มีที่รองรับผู้ป่วยระยะแรกจากการติดเชื้อ COVID-19 อย่างเพียงพอและได้มาตรฐาน สำหรับการประกาศปิด NU Hospitel ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องเฝ้าระวังเตรียมพร้อมที่จะกลับมาเปิดได้อีกเสมอ นี่ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 ที่ปิดตัวลง แต่หน้าที่ของ อว. ก็ยังไม่หมด จากนี้ไปมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ คณะพยาบาล หรือคณะสาธารณสุขก็ตาม ก็ต้องช่วยประเทศในเรื่องของการฉีดวัคซีนต่อไป
ด้าน ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า ในนามของกระทรวงขอแสดงความยินดีอย่างยิ่ง และขอชื่นชมมหาวิทยาลัยนเรศวร และสาธารณสุขของจังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ร่วมกันปิดโรงพยาบาลสนามในวันนี้ เบื้องต้นสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในระลอกนี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทางหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. ในทุก ๆ ภูมิภาคได้ร่วมมือกันในการดำเนินงานโรงพยาบาลสนาม จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศกว่า 51 แห่ง และมีความสามารถที่จะดูแลผู้ติดเชื้อได้พร้อมกันประมาณ 12,000 เตียง ตั้งแต่มีการดำเนินงานมา ทางโรงพยาบาลสนามของ กระทรวง อว. ได้ดูแลผู้ติดเชื้อรวมประมาณ 8,000 ราย และได้ส่งคนไทยที่หายป่วยแล้วกลับบ้านประมาณ 6,000 ราย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ขณะเดียวกันสถานการณ์ในหลาย ๆ พื้นที่ก็ดีขึ้น แต่ขอให้เฝ้าระวังการเกิดเหตุการณ์พลิกผันอยู่เสมอ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่รุนแรงในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2564 จังหวัดพิษณุโลกจึงประสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยนเรศวร มอบหมายให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอยู่จำนวนมากให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน โดยมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นหน่วยงานหลักการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค พร้อมทั้งนำนวัตกรรมจากผลงานวิจัยมาช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการรักษา ดังนี้
1. หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสิรินธร โดยใช้ห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) มีจำนวน 8 ห้อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพแบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
2. โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) ณ บริเวณ ชั้น 1 อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร) มีคุณภาพของห้องเกือบเทียบเท่าหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับการออกแบบคุณสมบัติและกำกับดูแลคุณภาพการก่อสร้างโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 20 เตียง แบ่งเป็นหอผู้ป่วยชาย 10 เตียง หอผู้ป่วยหญิง 10 เตียง ภายในติดตั้งกล้องวงจรปิด มีห้องตรวจติดตามอาการผู้ป่วยกลาง (Central Patient Monitoring Station) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคงที่
3. NU Hospitel มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับความร่วมมือจากจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงหอพักนิสิตจำนวน 1 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยที่อาการดีได้จำนวน 132 เตียง ในส่วนหอพักนิสิตนี้เมื่อใช้งานแล้วเสร็จ จะมีการพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสำหรับนิสิตที่จะเข้าพักต่อไป
จากการบูรณาการจากทุกภาคส่วนและความพร้อมของทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้มีการวางแผนการตรวจเชิงรุก และได้รับการสนับสนุนรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน (Biosafety Mobile Unit) จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก ทำให้พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของจังหวัดพิษณุโลกอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อใหม่ให้ลดลงได้ และสามารถรักษาผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก
ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ถ่ายภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.