วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดประชุมหารือเพื่อกำหนดสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed country) ภายใน 10 ปี พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ทุนเรียนดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) โดยแบ่ง 2 ระยะ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2564 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ขยายระยะเวลาของโครงการ เป็น พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2570 ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อทดแทนอาจารย์เกษียณและสร้างอาจารย์รุ่นใหม่ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รองรับยุทธศาสตร์ชาติ แผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี และนโยบายของรัฐมนตรี อว. (2) ส่งเสริมการผลิตบัณฑิตในทุกระดับให้พร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 มีคุณธรรม รองรับการพัฒนาประเทศสู่ประเทศเศรษฐกิจใหม่ (3) ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีมาตรฐานทางวิชาการสูง เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการวางรากฐานการสร้างกลุ่มผู้นำด้านการวิจัยในบรรดานักเรียนทุนรัฐบาล (4) เพื่อให้นักเรียนที่เรียนดีได้มีโอกาสทางการศึกษาระดับสูง เพิ่มศักยภาพให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ ยกระดับความสามารถของประเทศ ลดช่องว่างการเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก (รมว.อว.) กล่าวว่า เมื่อก่อนการให้ทุนในทบวงมหาวิทยาลัยก็ให้ไปตามสาขาวิชา ตามความต้องการของประเทศ ซึ่งสิ่งที่ทำมาก็ถือว่ามีประโยชน์ เกิดคนที่มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ “ผมได้ให้นโยบายไปว่า เราจะต้องไม่ทำไปเรื่อย ๆ ต้องมีเป้าหมาย มีทิศทาง ต้องบอกได้ว่าถูกหรือผิด บรรลุผลหรือไม่ และ 10 ปีข้างหน้า เราจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว” ร่วมกันผลักดันประเทศให้เกินกว่าการเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา นอกจากนั้นยังได้มีการให้จัดตั้งวิทยสถานเล็ก ๆ ขึ้นมา ตอนนี้ให้ทำโลกคดีกัน การต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ช่างศิลป์ท้องถิ่น สุวรรณภูมิศึกษา เพื่อทำให้ประเทศไทยกับโบราณคดีเป็นความจริง การจัดสรรทุนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ควรต้องไปกันได้กับการจัดสรรทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีหมุดหมาย มีความสามารถ มีสติปัญญา
โดยในการจัดสรรทุนการศึกษาจะต้องมี Focus, Priority, By-pass และ Giant Step ในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย
1. ต้องให้ทุนการศึกษาเพื่อนักเรียนทุนจะได้นำวิชาไปสร้างสังคมที่มองไปข้างหน้า รู้ทันอนาคต ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดให้ได้ เรียนเพื่อกลับมาทำให้ประเทศและสังคมดีขึ้น เก่งขึ้น
2. ให้ทุนการศึกษาเพื่อส่งคนไปเรียนวิชาที่ทำให้เกิดการสร้างสังคมที่รักการเรียนรู้ เชื่อมั่นว่าชาติจะก้าวหน้าไปได้ไม่หยุดยั้ง ไม่มีอะไรขวางกั้นให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องสามารถเข้าไปอยู่ในวงอารยธรรมของโลกได้อย่างรู้เท่าทัน เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกอยู่ตลอดเวลา
3. ส่งคนไปเรียนในศาสตร์ นำประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างสังคมที่ตื่นรู้ ที่สนใจในด้านศิลปะ สถาปัตย์ ดนตรี วรรณศิลป์ สุนทรีศาสตร์ ศาสนา จิตวิญญาณ ไม่น้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีต้องเพิ่ม Art and Culture Appreciation ให้คนไทยให้มาก
4. ส่งคนไปเรียนเพื่อกลับมาสร้างสังคมพรั่งพร้อมสมบูรณ์ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน เมือง ภาค และประเทศ พัฒนาทุกระดับ ชุมชนท้องถิ่นมีทั้งความรู้ จิตวิทยาเชิงบวก แลการบริหารจัดการที่ดี
5. ต้องส่งคนไปเรียนเพื่อกลับมาสร้างสังคมที่เป็นส่วนผสมที่ดีของชาติพันธุ์ของกลุ่มชนที่หลากหลาย ที่เป็นลักษณะพิเศษของไทย และกลับมาสร้างสังคมประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ละเลยอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.