"เอนก” ชื่นชมภาคเอกชนช่วยสู้ภัยโควิด ส่งมอบห้องความดันลบแบบ Modular Unit ให้โรงพยาบาลฝ่าวิกฤติ ย้ำ นายกฯ ฝากความหวังและให้เกียรติเสมอ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งประชาชน อีกไม่เกิน 3-4 เดือน สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานมอบห้องความดันลบแบบ Modular Unit จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาลในกำกับ อว. มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ส่งมอบ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า ตนมีความภูมิใจที่ อว. สามารถพัฒนาห้องความดันลบได้สำเร็จ ซึ่งความสามารถแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกประเทศ หรือทุกครั้งที่เกิดปัญหา ตนจึงมองประเทศไทยในแง่ดี เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ก็เช่นกัน เรามีทางออก มีความหวัง มีอนาคต ที่สำคัญ เราได้เห็นความเข้มแข็งของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ธุรกิจไม่ได้แปลว่าการหากำไรแต่อย่างเดียว ในยามที่บ้านเมืองเกิดปัญหาภาคเอกชนไทยพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมฝ่าฟันวิกฤติ
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ห้องความดันลบแบบ Modular Unit มาจากฝีมือของสถาบันแสงซินโครตรอน ซึ่งปกติจะทำเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ในยามคับขันเช่นนี้ก็นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่มาปรับใช้ได้ทันการณ์ในราคาต้นทุนต่ำมาก และ ส.อ.ท. ได้นำพิมพ์เขียวที่พัฒนาขึ้นนี้ไปผลิตต่อ แม้แต่การผลิตชุดหมี PPE ที่แต่เดิมต้องซื้อในราคาหลักหมื่น แต่ตอนนี้เราทำให้ถูกลงได้ถึง 10 เท่า สามารถซักและใช้ซ้ำได้ ขณะที่ชุด PAPR ที่มีราคาหลักแสน เราก็ผลิตได้ในราคาไม่ถึงหมื่น วัคซีนเราก็เริ่มคิดค้นและพัฒนาได้ในเวลาไล่เลี่ยกับประเทศตะวันตก และอีกไม่นานก็จะผลิตออกมาใช้ได้ ล่าสุด ยังผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กันได้เอง ราคาเพียงแค่เม็ดละ 30 บาท ถูกกว่านำเข้า 3 - 4 เท่า ซึ่งทั้งหมดนี้ในเวลานี้ได้มีภาคเอกชนรับไปต่อยอดในเชิงธุรกิจแล้ว ในวิกฤติจึงมีโอกาสอย่างแท้จริง ความสามารถเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงโอกาสของประเทศไทย ที่จะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง เราต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่บนฐานนวัตกรรม เปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งจะทำให้เราแข่งขันในระดับโลกได้
“เราต้องร่วมมือร่วมใจกันต่อไป ต้องมีสติ มีความรักสามัคคี คนไทยสู้ได้เมื่อภัยมาเสมอ รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากความหวังและให้เกียรติกับภาคเอกชนมาก และขอบคุณภาคเอกชนที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาช่วยกู้วิกฤติในสถานการณ์คับขัน อย่าง ส.อ.ท. ที่มีการออกมาตรการชัดเจนทั้งในเรื่องของการป้องกัน การรักษา และเยียวยา และยังได้ช่วยกันออกแบบเครื่องเก็บวัคซีนประมาณร้อยกว่าเครื่องเพื่อรองรับการดูแลวัคซีนของประเทศ ตนขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งประชาชนแน่นอน อีกไม่เกิน 3-4 เดือน สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น วัคซีนจะเข้ามาทันใช้แน่นอน เราต้องไม่ท้อแท้ ไม่ถดถอย ต้องช่วยกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย” ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จัดตั้ง "กองทุน ส.อ.ท.ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19" ภายใต้มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งของที่จำเป็น อาทิ ห้องความดันลบแบบ Modular Unit ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม, กลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ส.อ.ท. โดยได้ร่วมกับ อว. จัดทำขึ้นเพื่อมอบให้แก่สถานพยาบาลในเครือ อว. และสถานพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งาน โดยในวันนี้ ถือเป็นการส่งมอบห้องความดันลบแบบ Modular Unit 2 ห้องแรก (สนับสนุนโดยธนาคารกสิกรไทย) ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีเป้าหมายในการระดมทุนจัดหาห้องความดันลบแบบ Modular Unit จำนวน 50 ห้อง มูลค่ากว่า 6.5 ล้านบาท จึงขอเชิญร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดหาห้องความดันลบช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เลขที่บัญชี 009-1-71583-0 ธนาคารกรุงไทยสาขาไทยเบฟควอเตอร์ (ใบบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100%) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ส.อ.ท.หมายเลข 1453 ทุกปัญหาอุตสาหกรรมมีคำตอบ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.