(30 กรกฎาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ (เชิงนโยบาย) เรื่อง สถานะของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยแข่งขันได้ไหม ในงานการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 17 “Resilience for Never Normal Era” รูปแบบ Online Conference ผ่านโปรแกรม ZOOM และ Facebook Live พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไร้รูปแบบ มหาวิทยาลัย รอด หรือ ล่ม ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
การประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 17 “Resilience for Never Normal Era” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อตอบสนองประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรตามภารกิจหลักด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานวิทยานิพนธ์ รวมถึงผลงานวิชาการทั้งจากบุคลากร นิสิต นักวิชาการและนักวิจัย ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัยระหว่างบุคลากร ทั้งในสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งจะได้มาจากการยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ด้วย และเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า สถานะของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยแข่งขันได้ไหม “แข่งขันได้ เพราะว่าพื้นฐานเดิมเรามี” ทีนี้เรามาดูขีดความสามารถที่เราวัดกันในแบบปัจจุบัน คือ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย จัดอันดับโดย IMD (World Competitiveness Center) ในปี 2563 เราขยับจากอันดับที่ 39 เป็นอันดับที่ 38 ของโลก โดยอันดับนี้ดีขึ้นถึง 10 อันดับในระยะ 5 ปีหลังนี้ แล้วก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ สัดส่วนที่ประเทศไทยจ่ายไปให้กับการทำวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ได้ถึง 1.1 หรือ 1.2% ของ GDP อันนี้ก็ถือว่าไม่เลว รัฐบาลและกระทรวง อว. พยายามที่จะเพิ่มสัดส่วน R&D ขึ้นไป และเราจะผลักดันใน 6-7 ปีข้างหน้า ให้เป็น 2.0% ของ GDP อันนี้เป็นตัวเลขที่น่านับถือมาก เพราะเป็นตัวเลขของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งวัดจากการเกณฑ์อันนี้ ก็คือมีงบทำ R&D วิจัยและพัฒนา ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกัน
นอกจากนั้น สิ่งที่บอกว่าประเทศไทยมีสมรรถนะที่จะแข่งขันได้ดูได้จากในอีก 6-7 ปีข้างหน้านี้เราจะมียานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ตอนนี้ก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ ในฐานะกระทรวง อว. เรามีเครื่องฉายแสงซินโครตรอน เครื่องโทคาแมค ที่สร้างความร้อนเท่าๆ กับดวงอาทิตย์ แต่สร้างขึ้นบนโลก ซึ่งตอนนี้กำลังติดตั้งเครื่องนี้อยู่ เพื่อใช้สำหรับ แผนการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสี แต่พลังงานดังกล่าวในระดับโลกยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย เป็นต้น ค้นพบว่าคนไทยเก่งเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย และพัฒนาไปเร็วมาก ถ้าประเมินวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของไทยในอาเซียนเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์เท่านั้น
รมว.อว. กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐมนตรี อว. ในแง่สั่งการเรื่องของการใช้เงิน ได้สั่งการไปใน 2 เรื่อง คือ 1.กองทุน ววน. ซึ่งครอบคลุมเรื่องการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวง อว. และยังรวมไปถึงกระทรวงอื่น ๆ ด้วย ต้องมีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนที่คนอื่นเห็น ที่ตนเองเห็น ที่ตัดสินได้ว่าสำเร็จหรือไม่ ทิศทางนี้คือว่า การที่จะให้เงินวิจัยหรือองค์กรใด ต้องเป็นเรื่องวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่ธงที่เราตั้งเอาไว้ว่า ใน 10 ปีข้างหน้า วิทยาศาสตร์ของ อว. จะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ในระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อยก็ในเบื้องต้นให้ได้ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บุคลากรของเรา ต้องมีอุดมคติว่า เราจะต้องผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาภายใน 10 ข้างหน้าให้ได้ 2.ทุนอุดมศึกษา อย่างไรก็ตามเราจะต้องออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้
ในเหตุการณ์โควิด-19 ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพที่คิดไม่ถึง เรามีนวัตกรรมขึ้นมามาก ทำงานได้เร็วขึ้น เช่น ชุด PPE เราสามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน และทำได้ในราคาถูก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน ในเรื่อง Medium Tech และ High Tech ที่สูงมากๆ นอกจากนั้น ยังมีชุดหน้ากากความดันบวก หรือ PAPR ใช้เพื่อป้องกันสำหรับหมอ พยาบาลและผู้ช่วยที่เข้าไปทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรค รวมถึงสามารถทำห้องความดันลบในราคาที่ต่ำกว่าต่างประเทศเป็นสิบเท่า ทำยาฟาวิพิราเวียร์ได้ และเราทำวัคซีนได้เองแล้ว กระทรวง อว. ของเรา ต้องเป็นกระทรวงแห่งโอกาส แห่งอนาคต และแห่งความหวัง ต้องเป็นกระทรวงที่คิดถึงประโยชน์ระยะยาวและระยะปานกลางของประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยมีสถานะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันได้ จะสามารถไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดในรอบนี้ ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะ บทบาทของมหาวิทยาลัยก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับเรื่องสถานการณ์โควิดเราคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบมากกว่าที่คิดไว้ ถ้าเชื่อมโยงกับเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัย คือการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่าง มีรูปแบบที่พอจะประเมินได้ เช่น เรื่องสังคมสูงอายุ เกิดจากการที่โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป กระแสแนวโน้มต่างๆ จะทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการปรับตัว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีรูปแบบ คือ 1.การขยายลูกค้า ขยายเป้าหมาย ขยายทิศทางและดึงให้ทุกคนเข้ามา 2.การขยายภารกิจ เช่น การสร้างคน ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศ การสร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาประเทศสอดคล้องกับทิศทางหลักของประเทศที่จะไป 3.การขยายผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากหลักสูตรที่มีอยู่ ต้องมีการเสริมด้วย non-degree program 4.การขยายวิธีการ นอกจากการเรียนการสอนที่ปฏิบัติไปด้วย การสอนผ่านออนไลน์ ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.