.
(11 สิงหาคม 2564) เวลา 11.00 - 12.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 (Thailand - Japan High Level Joint Commission: HLJC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ และนายโมเทกิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม
การประชุม HLJC เป็นกลไกการประชุมระดับสูงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพื่อหารือเชิงนโยบายในการกำหนดทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในการประชุม HLJC ครั้งที่ 5 มีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้
1. การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น
2. ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
3. ความร่วมมือส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข
ทั้งนี้ ในการประชุม HLJC ครั้งที่ 5 นี้ อว. ได้มีการลงนามในความตกลง จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ด้วย ได้แก่
(1) บันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับสำนักงานนโยบายสาธารณสุข สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในสาขาการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข วัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการแพทย์
(2) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ซึ่งจะเป็นกรอบในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสอดประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth ของญี่ปุ่น
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการดำเนินการภายใต้โมเดล BCG Economy ของไทยในภาพรวม มีความยินดีที่ในวันนี้ ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ*ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช กับ New Energy and Industrial Technology Development Organization หรือ NEDO ของญี่ปุ่น
ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการดำเนินความร่วมมือกันต่อไปอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในการทำงานวิจัยและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ที่ตอบโจทย์ตามนโยบาย Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น โดยให้มีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้โมเดล BCG Economy ของประเทศไทย โดยเป็นงานวิจัยที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถใช้ประโยชน์ และผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเสนอว่าทั้งสองฝ่ายควรเน้นด้านเทคโนโลยีด้านชีวภาพ เกษตรและอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือที่สนับสนุนความสามารถในการปรับเปลี่ยนวงจรและโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการลดก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.