(19 สิงหาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการซีรี่ย์กรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 “อยุธยา on the move” จัดโดย สำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา)พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และรศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
อยุธยาที่หลากหลาย : ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและการศึกษา โดย รศ.ดร.ปรีดี พิภูมิวิถี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อยุธยาที่หลากหลาย มีปัจจัยจาก 4 ประการที่พบชัดเจนที่สุด อย่างแรก คือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แล้วก็ภูมินิเวศวัฒนธรรม สัมพันธ์ไปกับตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาชีพ ประเพณีวิถีชีวิต ระบบของธรรมชาติ วัฒนธรรม และระบบภูมิศาสตร์ของประเทศไทย อันที่สอง คือ ระบบโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ รูปแบบการเมืองการปกครองที่ใช้ระบบผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองเป็นหลัก แต่สังคมอยุธยามีความยืดหยุ่น มีความหลากหลายคนที่จะเข้ามาสู่ในระบบของโครงสร้างการเมืองการปกครองอยุธยามีอยู่หลายกลุ่ม หลายทักษะความสามารถ ปัจจัยที่สาม คือ ระบบความเชื่อและศาสนาที่ค่อนข้างเปิด และสุดท้ายที่ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน เพราะสัมพันธ์กันกับระบบเศรษฐกิจการค้า อยุธยาเป็นทั้งคนผลิตเอง คนจัดหา แล้วก็เป็นคนกำหนดราคาขาย เพราะฉะนั้นก็เท่ากับว่าดูแลกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งปลายน้ำ
พระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เห็นมิติของความหลากหลายค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นอยุธยากับประวัติศาสตร์ระดับลึกสำคัญ คนที่เรียนประวัติศาสตร์อยุธยาก็ต้องสนใจในระดับลึกลงไป ศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ไทยจีน ความสัมพันธ์ไทยตะวันตก ระบบการค้า การเสียภาษีหรืออื่น ๆ ในขณะเดียวกันอาจจะมีเรื่องสถาปัตยกรรม การต่างประเทศ ประเพณี การละเล่นในระบบโครงสร้างการปกครอง การสงคราม และคติชนวิทยา ศิลปะวิทยาการ หรือแม้กระทั่งวรรณคดี รวมกันแล้วเป็นมิติของการจัดการเรียนการสอนแบบอยุธยา เราอาจจะใส่ความเป็นวิทยาศาสตร์เข้าไปในช่องของมิติบูรณาการด้วยก็ได้ ซึ่งสำคัญด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการเรียนประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นการตั้งคำถามแต่ไม่ใช่คำถามประเภท ใคร อะไร เมื่อไหร่ มันจำเป็นจะต้องเป็นคำถามอย่างไรแล้วมันไม่ใช่อย่างไรเฉพาะอยุธยา แต่มันต้องเป็นอย่างไรแบบบูรณาการทั้งฝั่งวิทยาศาสตร์แล้วก็ฝั่งของสังคมศาสตร์
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับบางเรื่องราวในประวัติศาสตร์อยุธยา รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
สำหรับเรื่องดาวหาง หากใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรวจดูสามารถบอกได้ว่าดาวหางนี้ ปรากฏขึ้นจริง ในปี 1529 แต่ไม่ใช่ดาวหางฮัลเลย์ และปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเป็นดาวหางใด คงเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์จะต้องหาความรู้กันต่อไป เรื่องที่ 2 อาจจะมีความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคาแบบวงแหวนในอ่าวไทย แต่การพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง ต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมต่อไป เรื่องสุดท้ายวัดพระคลังน่าจะเป็นวัดดุสิดารามในปัจจุบันนี้น่าจะเป็นความจริง ในเรื่องประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างที่ อว. สามารถใช้พิสูจน์เรื่องของโบราณสถาน โบราณวัตถุ เรื่องราวต่าง ๆ ได้ อันนี้ก็กระจายอยู่ในสถาบันวิจัย ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศ เป็นนิมิตหมายอันดีที่เรามีการบูรณาการร่วมในศาสตร์ต่าง ๆ ให้เกิดความรู้ใหม่ได้
ศิลปกรรมอยุธยา : การต่อยอดความรู้สู่อนาคต อ.สุรินทร์ ศรีสังข์งาม ผู้อำนวยการสถาบันอยุธยาศึกษา ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาของอดีต แต่เป็นวิชาที่เป็นรอยต่อระหว่างเวลา คำว่าปัจจุบันเกือบจะเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงด้วยซ้ำ ทันที่คุณพูดว่าปัจจุบัน ปัจจุบันก็จะกลายเป็นอดีตทันที เพราะฉะนั้นคือศาสตร์สำหรับการก้าวไปสู่อนาคต คำนี้ไม่เกินจริง โดยเฉพาะเรื่องนโยบายของกระทรวง อว. ที่ได้เน้นให้แบ่งกลุ่มของมหาวิทยาลัย แล้วมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็ได้รับหน้าที่ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ หรือเกือบจะเป็นทุนตั้งต้นของการพัฒนาท้องถิ่น ก็คือทุนทางศิลปะกรรมและทุนทางวัฒนธรรมนั่นเอง ปัจจุบันประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว และก็ไม่ใช่สิ่งที่คนไม่สนใจ ไม่ใช่ยาขม แต่เป็นพลัง แล้วก็เป็นพลวัตและระบบการขับเคลื่อนในปัจจุบัน
ความรู้ในอดีตนั้นสำคัญอย่างไร เราใช้ศิลปะนั้นเป็นภาพสะท้อนและแสดงพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ในอดีต เราอยากรู้ว่ามนุษย์ในสมัยนั้นคิดอย่างไร เจตจำนงของมนุษย์ในยุคนั้น มนุษย์เป็นสิ่งที่สัมผัสมันจะปรากฏร่องรอยอยู่ในงานศิลปกรรมทั้งสิ้น การศึกษางานศิลปะไม่ใช่หยุดอยู่เพียงการศึกษาความงามหรือสิ่งที่เห็นแต่ด้านหน้า แต่ยังมีภูมิปัญญาอย่างมหาศาลอยู่ด้วย ซึ่งการต่อยอด คือการนำความรู้หนึ่งกับความรู้หนึ่งที่มีการศึกษาดีแล้วนั้นมาต่อกัน เมื่อความรู้ทั้งสองอย่างผสมกันนั่นอาจจะกลายเป็นความรู้ใหม่ที่ดีขึ้น หรือกลายเป็นความรู้เดิมที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็ได้ นอกจากนั้นตัวงานศิลปกรรมไม่ใช่แค่รูปแบบและความงาม แต่กลับกลายเป็นเครื่องธำรงความรู้ และภูมิปัญญาไว้อย่างมากมาย ดังนั้นถ้าจะต่อยอดความรู้จากศิลปกรรมของอยุธยา ทำได้ด้วย 2 อย่าง คือ 1. เทคโนโลยีหรือความรู้ในปัจจุบัน และ 2. การทำงานวิจัย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.