(27 สิงหาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการซีรี่ย์ไทยกับโลกและประเทศเพื่อนบ้าน : อัฟกานิสถานกับการเมืองโลก จัดโดย สำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และรศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นายสมปอง สงวนบรรพ์ ผอ.สถาบันโลกคดีศึกษา กล่าวว่า ในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันสามารถยึดครองเมืองหลวง กรุงคาบูลของอัฟกานิสถานได้ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนกองกำลังออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 11 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นที่จับตาของชาวโลกเป็นอย่างมาก เพราะอัฟกานิสถานในอดีตหลายร้อยปี ไม่ได้มีพื้นที่เป็นประเทศของตัวเองมาก่อนเลย โดยจะถูกครอบครองโดยอาณาจักรต่างๆ ตลอดมา เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียกลางที่จะเชื่อมตะวันออกกับตะวันตกและออกสู่ทะเลอาราเบียน ตามทฤษฎีความเชื่อหากใครครอบครองพื้นที่ตรงนี้ได้จะสามารถครอบครองโลกได้
ช่วงปี 1830 - 1900 เป็นช่วงการเผชิญหน้าแย่งชิงพื้นที่ระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย โดยอังกฤษเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน ทำให้รัสเซียมีความพยายามที่จะขยายอิทธิพลเข้ามาอัฟกานิสถานเช่นกัน การเผชิญหน้ากันของทั้ง 2 ประเทศนั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการเมืองโลกที่สำคัญ ในขณะที่ปากีสถานนั้นจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์อย่างมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของอัฟกานิสถาน และในขณะเดียวกันอินเดียนั้นได้ลงทุนในอัฟกานิสถานขณะที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปสนับสนุนอัฟกานิสถานจำนวนมากก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ทางด้านรัสเซียได้บุกอัฟกานิสถานในช่วง 1978 - 1989 เป็นช่วงที่ทำให้ตาลีบันกำเนิดขึ้นมามีอำนาจและต่อสู้กันมาจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของประเทศจีนได้เชิญผู้นำตาลีบันไปเจรจาพูดคุย และจีนก็จะเข้าไปมีบทบาทกับอัฟกานิสถานอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน
ด้าน ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เผยว่า อัฟกานิสถานนั้นหลุดจากอิทธิพลของอเมริกาทำให้แนวภูมิรัฐศาสตร์จีนและรัสเซียเชื่อมโยงถึงกันหมด มีทฤษฎีที่อธิบายว่าใครกุมแผ่นดินใหญ่ของยุโรป เอเชียได้ คนนั้นจะกุมโลกได้ แต่ในอีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า ใครกุมประเทศชายขอบของยุโรป เอเชียได้ และกุมมหาสมุทรทะเลได้ คนนั้นกุมโลกได้ 2 ทฤษฎีนี้น่าคิด ซึ่งในอนาคตอัฟกานิสถานจะถูกเชิญชวนให้ไปอยู่ฝั่งจีนกับรัสเซีย ซึ่งก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เป็นการเมืองทางพื้นที่ซะมากกว่า บริบทของจีนนั้นจะค่อนข้างชัดเจนขึ้นเพราะประโยชน์ทางภูมิศาสตร์ในประเทศอัฟกานิสถาน โดยประเทศจีนอยากจะเชื่อมต่อกับประเทศอิหร่าน ซึ่งสามารถเชื่อมได้ 2 ทาง คือ ปากีสถาน กับ อัฟกานิสถาน ซึ่งเส้นทางต่างๆ ที่จีนพยามเชื่อมต่อนั้นจะทำให้เกิดเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ ของโลก ซึ่งจะทำให้จีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก จากเหตุการณ์ที่กลุ่มตาลีบันยึดอัฟกานิสถานขึ้นอย่างรวดเร็วคงจะทำให้อินโดแปซิฟิก และกลยุทธุ์ของสหรัฐอเมริกาต้องปรับเปลี่ยนต่อไป
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานนั้นเป็นความแปลกใหม่ ซึ่งในปัจจุบันตาลีบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากอาจเป็นผลเนื่องมาจากตาลีบันในยุคก่อนถูกสหรัฐอเมริกาปราบปรามทำให้กระจัดกระจายไปยังพื้นที่ประเทศต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ นำไปสู่การปรับตัว แต่ก็ยังมีปัญหาในกลุ่มตาลีบันในระดับชนชั้นต่างๆ อยู่บ้าง ซึ่งเป็นความท้าทายของกลุ่มตาลีบัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเสวนาที่ได้พูดคุยกันขึ้นอยู่กับเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สถานการณ์ความมั่นคงในอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งในอนาคตจะมีความท้าทายต่าง ๆ เกิดขึ้นกับอัฟกานิสถานทำให้ประเทศไทยต้องคอยติดตามกลุ่มตาลิบัน 2.0 ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
1. การจัดตั้งรัฐบาล หรือเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งประชากรในอัฟกานิสถานนั้นจะมีความหลากหลายๆ มากๆ ซึ่งกลุ่มตาลีบันจะใช้ศาสนาหลอมรวมคนในชาติได้อย่างไร
2. ปัญหาความยากจนในอัฟกานิสถานนั้นค่อนข้างรุนแรง ประชากรในอัฟกานิสถานเกือบ 50% ไม่มีงานทำ และประชากรนั้นมีความยากจนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจน
3. ปัญหายาเสพติด อัฟกานิสถานผลิตฝิ่นและเฮโรอีนได้ 65% ของจำนวนเฮโรอีนในโลก แต่กลุ่มตาลีบันเข้ามาตัวเลขลดลงเหลือ 3% โดยประชาคมโลกนั้นได้จับตามองกลุ่มตาลีบันเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดอยู่ตลอด
4. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอัฟกานิสถาน ประชากรมากกว่า 50% เป็นคนรุ่นใหม่ในอัฟกานิสถาน และคนรุ่นนี้เป็นคนที่อยู่ในรุ่นสหรัฐอเมริกา เยาวชนเหล่านี้นั้นส่วนใหญ่จะต่อต้านกลุ่มตาลีบัน จุดนี้ คือ สัญญาณที่แสดงให้กลุ่มตาลีบันเห็นว่าสังคมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะตาลีบัน คือ กลุ่มติดอาวุธที่เปลี่ยนตัวเองเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ประสบการณ์ในการบริหารประเทศนั้นมีน้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องติดตามต่อไปว่ากลุ่มตาลีบันจะปรับตัวได้น้อยมากแค่ไหน
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กล่าวว่า เรื่องภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของแต่ละประเทศเป็นไปตามเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติในเชิงทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในส่วนประเทศไทยยังไม่ค่อยได้มีความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานมากนัก โดยดำเนินความสัมพันธ์ในเรื่องความช่วยเหลือทางด้านมนุษย์ธรรมเท่านั้น ไม่ค่อยได้มีความร่วมมือใดๆ ซึ่งประเด็นอัฟกานิสถานที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่สำคัญในณะนี้ คือ ความปลอดภัยของคนไทยในอัฟกานิสถาน ขณะนี้คนไทยที่ทำงานในอัฟกานิสถานอพยพออกมาหมดแล้ว โดยการกลับมาของตาลีบันปัจจุบันนี้แตกต่างจากอดีตและได้รับการสนับสนุนมากกว่าในอดีต แต่ยังต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ซึ่งอัฟกานิสถานนั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ หากจีนเชื่อมต่อกับอัฟกานิสถานได้แล้วนั้นจะทำให้จีนเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริงภายในเวลาไม่นาน สหรัฐอเมริกาจึงจะต้องปิดล้อมประเทศจีนหรือหาทางถ่วงดุลจีนต่อไป ทำให้การเมืองในอัฟกานิสถานนั้นมีการแข่งขันกันที่เข้มข้นมากๆ ในการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างมหาอำนาจทั้งหลายนั้นทำให้ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางของประเทศใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นผ่านอาเซียน ซึ่งประเทศไทยต้องอาศัยอาเซียนให้เป็นประโยชน์โดยการประชุม Apec ที่จะถึงนี้เป็นโอกาสดี ที่ประเทศไทยจะนำเรื่องการฟื้นฟูอัฟกานิสถานเข้ามาเป็นอีก 1 ประเด็นที่สำคัญ แต่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาในประเทศที่ต้องแก้ไข เช่น ปัญหากับพม่า เป็นต้น พัฒนาการของอัฟกานิสถานในบริบทใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และประเทศไทยต้องมองมุมนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม
หากใช้กรอบอาเซียนในการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานนั้น จะทำให้ประเทศไทยทำงานได้ง่ายขึ้น โดยน่าจะมีประเทศที่น่าจะสนใจในการสร้างความสัมพันธ์ฟื้นฟูกับอัฟกานิสถาน 3 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ถึงแม้จะยังไม่มีการรับรองรัฐบาลก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากและประเทศไทยควรมีการเตรียมพร้อมทางด้านนี้ไว้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.