(10 กันยายน 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ "สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่" จัดโดย สำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมงาน โดยมี นายแพทย์บัญชา พงศ์พานิช ผอ.สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา กล่าวรายงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า รู้สึกยินดีและรอคอยที่จะฟังเรื่องของ สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่มานาน อยากจะทราบว่าความท้าทายใหม่นี่คืออะไร เมื่อหลายเดือนก่อน ท่านอาจารย์ ศรีศักร ได้บอกกล่าวว่า ได้มีการค้นพบบางอย่างเกี่ยวกับสุวรรณภูมิที่ภาคอีสาน น่าตื่นเต้นมาก เมื่อโควิดทุเลาจึงได้มีโอกาสจัดงานเสวนาเพื่อรับฟังในเรื่องของความท้าทายใหม่นี้ อย่างไรก็ตามยังมีความรู้ที่จะได้รับฟังจากวิทยากรหลาย ๆ ท่าน ทั้งเรื่องที่สุวรรณภูมิเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและการค้าด้วย ก็จะรอติดตามรับฟัง
ด้าน นายแพทย์บัญชา พงศ์พานิช ผอ.สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายการสนับสนุน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนางานวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ด้วยการจัดตั้งวิทยสถานธัชชา ที่แปลว่า ธงชัย อันมีสถานบันสุวรรณภูมิศึกษาเป็น 1 ใน 5 สานบันนำร่องด้วยนั้น การศึกษาค้นคว้าว่าด้วยเรื่องสุวรรณภูมิที่มีบันทึกและกล่าวถึงในนานาชาติมาร่วม 2,000 ปี จนกระทั่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า หน่วยงานในกำกับของกระทรวง อว. ได้ริเริ่มทำการศึกษาเรื่อง สุวรรณภูมิศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยขอให้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เชิญนักวิชาการไทยและทั่วทั้งโลก เข้าร่วมทำการศึกษา ออกมาเป็นผลงานชุดความรู้ใหม่และบทสังเคราะห์ว่าด้วยสุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก เมื่อปี พ.ศ. 2562 และบัดนี้การก่อตั้งรูปจัดตั้งวิทยสถานธัชชาและ 5 สถาบันนำร่องได้เป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นทางการ พร้อมที่จะทำการขับเคลื่อนแล้ว โดยท่านปลัดกระทรวง อว. ในฐานะประธานการขับเคลื่อนได้มีดำริให้มีการเสวนาวิชาการธัชชา และสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาได้รับโอกาสจัดเสวนาในหัวข้อ สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่ เป็นประเดิม เพื่อการเปิดประเด็นชี้ชวนให้เกิดความสนใจและเข้ามาร่วมศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคกันอย่างจริงจัง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลากหลายสาขาวิชา ประกอบด้วย
1. ศ. (พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม มูลนิธิเล็ก-ประไพ กล่าวถึง สุวรรณภูมิ ดินแดนประวัติศาสตร์
2. ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวถึง สุวรรณภูมิในมุมมอง 3 มิติ คือ สถานที่ โบราณวัตถุ และภูมิปัญญา
3. ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวถึง สุวรรณภูมิศึกษา ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์
4. ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวถึง การจัดทำหลักสูตรประวัติศาสตร์ฯ สุวรรณภูมิศึกษา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.