เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนาทางวิชาการ “รวมพลคนวิจัย” “ประเทศไทยหลังโควิท-19 : การฟื้นตัวอย่างมั่นคงทั้งในมิติการแพทย์ สาธารณสุข และมิติเศรษฐกิจและสังคม” พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ผู้บริหารกระทรวงฯ และนักวิจัยเข้าร่วมการเสวนา ณ ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Meeting
ในการเสวนาประกอบไปด้วยประเด็นวิจัยใน 2 หัวข้อหลักคือ
1. การแพทย์และสาธารณสุขไทยหลังโควิท-19
นำการอภิปรายโดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์
2. การฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังโควิท-19
นำการอภิปรายโดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวเปิดงานเสวนาในประเด็นที่ว่า เรามีอะไรที่จะได้จากโควิท-19 มากมาย แน่นอนมันมีข้อเสีย มีปัญหา มีวิกฤต แต่ก็มีโอกาส มีช่องทางที่จะใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งโควิท-19 จะทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยจะดีดตัวเองออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร อย่างที่เห็นอยู่เราทำชุด PPE ราคาเป็น 1 ใน 10 ของราคาตลาด ชุดหน้ากากความดันบวกก็ประมาณ 1 ใน 10 ของราคาตลาด ห้องความดันลบก็ทำได้ในราคาไม่แพงทั้งแบบประจำการและแบบเคลื่อนที่ เรื่องวัคซีนเราก็ทำได้ 4 ตัวเป็นอย่างน้อย ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นการทดสอบในมนุษย์ นอกจากนี้ยังทำวิจัยในเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ วัคซีนเข็ม 3 มีการทำ Research เป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นตัวอย่างว่าเศรษฐกิจของเรากำลังขยับ เราจะต้องใช้วิจัย ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาเป็นฐานเศรษฐกิจให้ได้ ส่วนการแพทย์และสาธารณสุขต้องเตรียมการรับมือ ถ้าเรามีโรคระบาดในทุก 4 ปี อย่างที่เรามีสถิติมาใน 20 ปี เรามีอยู่ 5 ครั้ง ฉะนั้นการสาธารณสุขและการแพทย์ของเราจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับความไม่ปกติ ที่อาจจะมีวิกฤตตามมาในอีกเรื่อย ๆ เราจึงจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งในการรองรับวิกฤตใหญ่ ๆ ที่มันจะมาโจมตีเรา ผมต้องการให้พวกเราปล่อยความคิดออกจากกรอบให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดกรอบใหม่ ๆ ในการมองปัญหา ซึ่งคิดว่ามันคือสุดยอดของงานวิจัย ผมคิดว่า Mindset ของนักวิจัยไม่ควรเป็นฝ่ายตั้งรับ และคิดถึงแต่เรื่องของปัญหา ซึ่งนักวิจัยของเราเก่งทุกสาขา แต่อยากให้พวกเราช่วยกันคิดทิศทางใหม่ ๆ ของประเทศ ประเทศจะได้โอกาสอะไรจากงานวิจัยของเรา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.