30 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุม รมว. ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. / ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมการประชุมหารือในประเด็น โครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ในระยะที่ 2 ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า เราอยากจะทำอะไรที่มีผลดีต่อประเทศ อย่างปีที่ผ่านมาเราเอา u2t ไปช่วยเรื่องโควิดก็ได้ผลเป็นอย่างมาก ในขณะนี้เราก็จะนำ u2t ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่ง u2t นั้นเปรียบเสมือนกำลังสำรองของรัฐบาล ส่วนปีหน้า เราจะทำเรื่องเศรษฐกิจภูมิภาค และ BCG ซึ่งจะเป็นวาระแห่งชาติ เราต้องการให้เด็กเข้าใจวาระแห่งชาติ รู้จักยุทธศาสตร์ของชาติ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย เราจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง มีประโยชน์ มีรูปธรรม และสามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติได้
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล มีการกระจายการจ้างงานอยู่ในพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ ครบทุกจังหวัด มีองค์ประกอบของการจ้างงานบัณฑิต ประชาชน นักศึกษา อยู่ที่ 60,000 คน ขณะนี้จ้างงานได้สูงสุด 97.5% และยังมีกิจกรรมในแง่ของการยกระดับเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียนจากการจ้างงานมากกว่า 700 ล้านบาท ในการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่กุมภาพันธ์-ปัจจุบัน งบประมาณโครงการโดยรวมอยู่ที่ 10,629 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 7,283 ล้านบาท
เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของกิจกรรม การพัฒนาบุคคลในชุมชน ซึ่งการจ้างงานดังกล่าวจะมีการพัฒนาทักษะทางด้านต่างๆ อาทิ การเงิน ดิจิทัล กิจกรรมที่ผ่านการดำเนินงานโดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะเน้นไปที่การพัฒนาและสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของตัวข้อมูล ผลของการดำเนินงานในแต่ละตำบลจะมีบุคลากร 20 คนที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแลอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วยบัณฑิตจบใหม่ 10 คนต่อตำบล นิสิตนักศึกษาปีสุดท้ายของการเรียน 5 คน และประชาชน 5 คน และจะมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่ ดูแลโดยตรง ข้อมูลจาก Community Big Data ทางมหาวิทยาลัยจะนำไปวิเคราะห์และพัฒนาต่อยอด
โครงการที่ให้นิสิตนักศึกษาแสดงออกความคิดของตน คิดใหม่ทำใหม่ ประชาชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมจะดึงศักยภาพออกมาแข่งขันกัน ผ่านกลไก Hackathon โดยคัดเลือกเหลือ 40 ทีมมาประกบคู่กับหน่วยงาน อว. 20 หน่วยงาน และอีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะมีผลสรุปออกมา นี่ถือเป็น Social Movement ที่สำคัญกับนิสิตนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชน ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นเป็นโครงการ U2T ในปีที่ 1 ที่กระทรวง อว.
โครงการระยะที่ 2 จะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นและต่อยอดจากระยะที่ 1 ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ Covid-19 2..การดูแลเศรษฐกิจชุมชน แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามบริบทของชุมชน และ 3.การจ้างงานบุคลากรที่มีความรู้ มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นประเด็นสำคัญ
“แนวคิดในระยะ 2 จะมีการปฏิบัติงาน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ ก็จะประกอบไปด้วยการจ้างงาน 150,000 คน และจะมีเพิ่มในเรื่องของการยกระดับเศรษฐกิจรายตำบลและการจัดทำข้อมูล Community Big Data เป้าหมายของโครงการจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน การบูรณาการใช้ข้อมูลที่มีอยู่รองรับการฟื้นฟูของประเทศหลังจากผ่านจากวิกฤตโควิด-19 สำหรับ 3,000 ตำบลที่มีการจ้างงานอยู่แล้วก็จะเป็นการต่อยอดจากระยะที่ 1 เมื่อจบโครงการในระยะที่ 2 แล้วทุกๆตำบลของประเทศไทย ก็จะได้รับการจ้างงานอยู่ในระดับเดียวกัน ในระยะที่ 2 โดยประมาณการงบประมาณที่ประเมินไว้อยู่ที่ 4,727 ล้านบาท” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ กล่าว
ข่าว : นายปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313