(2 ตุลาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน Mini Talk mini Trend เรื่อง “ฎ ชฎา POP COOLTURE” จัดโดย วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยมี รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมงาน ณ อาคารสายสุทธานภดล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า กระทรวง อว. นอกจากสอนและวิจัยของจากนวัตกรรมแล้ว ปัจจุบันก็เป็นกระทรวงแห่งการพัฒนา กระทรวงแห่งการปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องเป็นกระทรวงแห่งการพัฒนาก็เพราะว่า จากนี้ไปจนถึงปี 2580 เราต้องช่วยประเทศให้ขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีเวลาไม่ถึง 20 ปี แล้ว หมายความว่า รัฐบาลได้วางหมุดปักหมายไว้แล้ว เราจะไม่ไปเรื่อย ๆ จะไม่เป็นประเทศกำลังพัฒนาไปเรื่อย ๆ จะไม่เป็นประเทศด้อยพัฒนาไปเรื่อย ๆ เราจะไม่สอนไปเรื่อย ๆ แล้ว ประเทศก็เป็นเทศกำลังพัฒนาไปตลอดไป เราจะไม่วิจัยนวัตกรรมไปเรื่อย ๆ เราจำเป็นจะต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน จากนี้อีก 10 ปีเป็นต้นไปกระทรวง อว. จะต้องเป็นกลไลสำคัญในการพาประเทศไทยไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราไม่ได้ทำอะไรไปเรื่อย ๆ ต้องพยายามทำอะไรเพื่อไปสู่หมุดหมายที่สำคัญ 10 ปีข้างหน้าอุดมศึกษา ต้องเป็นอุดมศึกษาที่มีระดับ บวกกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ต้องเดินด้วยสองขา ขาหนึ่ง คือ เศรษฐกิจที่เอาวิทยาศาสตร์วิจัยเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจ BCG ต้องทำตรงนี้ให้ได้ มหาวิทยาลัยต้องมีวิทยาการ มีวิทยาศาสตร์ มีวิจัย มีนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยเดินไปบนขาเศรษฐกิจที่มีวิทยาศาสตร์เป็นฐานให้ได้ แต่อีกขานึงที่สำคัญของเราก็เป็นขาดั้งเดิม คือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ อาจจะเป็นการท่องเที่ยว ธุรกิจอยู่สบาย ความงาม การติดต่อสื่อสารเชื่อมความสัมพันธ์ ซึ่งในตอนนี้สำคัญมาก แต่ว่าโลกยังมัวแต่พูดเรื่อง 5G พูดเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 พูดเรื่องโลกจะเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน แต่จริง ๆ แล้ว โลกมันไม่น้อยกว่าครึ่งนึงมันจะเป็นโลกที่ต้องการความสงบ ความร่มเย็น ความนุ่มลึก ความงดงาม ซึ่งอันนี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทยอยู่แล้ว ผู้บริหารอุดมศึกษาต้องพยายามคิดค้นเปิดวิชาเปิดหลักสูตรที่จะทำให้เรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์โดดเด่นขึ้น ต้องปลุกกระแสเชิงเศรษฐกิจให้สร้างสรรค์ขึ้น
การจัดสัมมนาเรื่อง “ฎ ชฎา POP COOLTURE” ขึ้น ซึ่งจัดร่วมกันระหว่าง ทัชชา ของกระทรวง อว. กับสวนสุนันทาเป็นเพียงตัวอย่างที่จะทำให้เราเห็นว่าอนาคตของประเทศ นอกจากจะมีเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องของดาราศาสตร์ BCG แล้ว ยังมีการทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วย ตอนนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรม มีมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติที่ดีเป็นอันดับ 6 อันดับ 7 ของโลก วันนี้ถือโอกาสเสนอท่านอธิการฝากไปยังสภามหาวิทยาลัยสวนสุนันทาว่า ควรจัดทำวิชามรดกทางวัฒนธรรม น่าจะทำหลักสูตรมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งหลายอย่างมีอยู่แล้วอาจจะต้องมาดูกัน เป็นหลักสูตรที่เปิดแล้วเชื่อว่าจะมีนักศึกษาทั่วโลก อาจารย์ทั่วโลกอยากจะมาเรียน อยากจะมาวิจัย เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นอะไรที่สำคัญกับประเทศไม่น้อยไปกว่าเรื่องมี 4G ไม่น้อยไปกว่าเรื่องวิทยาศาสตร์ อันนี้ในโอกาสที่มาพูดที่สวนสุนันทานี่คือจุดแข็งของสวนสุนันทา ซึ่งคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเอาวิชาความรู้ของไทยขึ้นมา เอาประสบการณ์ขึ้นมาแล้วสอนแล้ว Export ความรู้นี้ออกไปให้โลก ที่ผ่านมาเรานำความรู้เข้ามาในประเทศ ไม่ว่าจะสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ หรือว่าวิทยาศาสตร์เรานำความรู้ของฝรั่งเข้ามา บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเก็บของที่ดีของเราแล้วก็สร้างไปเป็นทฤษฎีแล้วก็นำความรู้นี้ออกไปให้โลก อนาคตถ้าเราเปิดวิชา cultural heritage แล้วเขามาเรียนก็มี options ให้เขามาเรียนได้มากกว่าที่มีอยู่เวลานี้แล้วต้องทำให้เป็นระดับเลิศของโลกให้ได้
ด้าน รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า การที่เรามาพูดเรื่องชฎามันก็เป็นอะไรที่ไม่เก่าจนเกินไปและก็ไม่ใช่ใหม่จนเกินไป เพราะว่าเราเห็นการประกวดสุภาพสตรีที่จะต้องแสดงให้เห็นว่ามันจะต้องมีความเป็นไทย เราก็จะเห็นภาพของชฎาอยู่โดยลำดับอยู่แล้วเพราะฉนั้น เรื่องของชฎาไม่ใช่เรื่องที่เป็นเรื่องแปลกใหม่ และก็ไม่ใช่เรื่องที่ล้าหลังจนเราไม่เข้าใจ แต่มันกับกลายเป็นว่าเราอาจจะเห็นความหมายของชฎาในอีกแง่มุมหนึ่ง หรือถ้าว่ากันง่าย ๆ คือว่าเราอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่แท้จริงของชฎาเท่าไหร่นัก เราก็เลยตั้งเป้าเอาไว้ก่อนว่าชฎาจะต้องเป็นเรื่องของบุคคลสูงศักดิ์ ชฎาต้องเป็นเรื่องของบุคคลที่สำคัญ หรืออะไรต่าง ๆ นานาที่เราอาจจะคิดเอาไว้ล่วงหน้า ชฎาเป็นเพียงหนึ่งในคำเรียกเครื่องศิราภรณ์ คือ เครื่องที่ประดับศรีษะ เครื่องศิราภรณ์ก็คือ ศิระ แปลว่าเศียร กับอาภรณ์ เพราะฉะนั้นเนี่ย เครื่องศิราภรณ์ หมายถึงเครื่องประดับศรีษะทุกอย่าง หนึ่งในนั้นคือชฎา อะไรก็ตามที่เราเอาขึ้นไปไว้บนศรีษะ เราก็จะเรียกว่าเป็นเครื่องศิราภรณ์ทั้งหมด ดังนั้นชฎาเป็นแค่หนึ่งอย่างเท่านั้น
มันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งอย่างที่รัฐมนตรีว่า อันนี้เป็นวัฒนธรรมที่เป็นดีเอ็นเอของคนไทยอย่างนึง คือรับมาแล้วก็เปลี่ยนมันไปซะเลย เปลี่ยนไปจากดั้งเดิมที่มันเคยมีมาจนกระทั่งมันไม่มีอีกแล้วในลักษณะแบบนี้ที่ต้นกำเนิดมันมา จะเห็นในที่สุดว่าคนไทยเปลี่ยนมันไปเยอะมาก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.