อว. ผลักดันผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนภาคเหนือตอนบน
“ย้ำ” นำรากเหง้าต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การพัฒนาประเทศ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการกล่าวปิดงาน “โครงการอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง สำหรับตลาดในยุค New Normal Creative Design Competency Enhancement of Local Craft Entrepreneurs for New Normal Market Workshop” (Koyori Project 2021) ผลิตภัณฑ์ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า Koyori project เป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลายปี ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะ วช. ที่ให้ทุนสนับสนุน และสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา ซึ่งช่วยดำเนินการในการสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการหัตถศิลป์ของภาคเหนือตอนบนรวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเขตภาคเหนือที่ได้ส่งนักศึกษามาเข้าร่วมเพื่อร่วมฝึกฝนทักษะ โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมแห่งชุมชน
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า Koyori project เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ "การยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบน ด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์" ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการโดยมี ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา เป็นหัวหน้าโครงการ ระยะเวลาดำเนินการช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 - สิงหาคม2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองในเขตภาคเหนือตอนบนให้มีความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองที่มีความแตกต่าง และโดดเด่นที่ตรงกับความต้องการของตลาดในยุค New Normal โดยใช้นวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ศึกษาความต้องการทางการตลาดของสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองในยุค New Normal และทำการพัฒนาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับตลาดหัตถกรรม ยุค New Normal สำหรับผู้ประกอบการหัตถกรรมในเขตภาคเหนือเพื่อการสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารกิจการของกลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองอย่างเฉพาะเจาะจงในเขตภาคเหนือตอนบนด้วยกระบวนการ Tailor Made Consulting and Workshop เพื่อยกระดับของห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองในเขตภาคเหนือตอนบน
จากผลการดำเนินงานทั้งหมดทางโครงการได้ผู้ประกอบการหัตถกรรมล้านนารุ่นใหม่ หรือ Potential Young Entrepreneurs โดยคัดเลือกจากทายาทชุมชน และนักออกแบบรุ่นใหม่ที่สนใจการเรียนรู้งาน เพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองรุ่นใหม่ จำนวน 30 คน รวมทั้งมีการส่งเสริมช่องทางการตลาดการจัดแสดงนำเสนอผลงาน การออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองสำหรับตลาดในยุค New Normal ทำให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสแสดงผลงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเครือข่ายทางธุรกิจ กิจกรรมปิดโครงการในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จของการทำงานร่วมกันในการยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่และน่านด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
รมว.อว. กล่าวว่า จากการที่ได้มาเยี่ยมชมงานนี้ตนรู้สึกดีใจและเชื่อมั่นว่ามาถูกทางแล้ว กล่าวคือเราจะต้องมีหลักชัยในการทำงาน เราจะไม่ทำงานวิจัย งานสอน นวัตกรรม หรือศิลปวัฒนธรรมไปเรื่อยๆแล้วปล่อยให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา แต่จะต้องมีความตั้งใจ มีหมุดหมายในการปฏิบัติงาน หมุดหมายที่สำคัญประการหนึ่งคือเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะสิ้นสุดในอีก 16 ปีข้างหน้า เราทุกคนจะต้องช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนา มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้ได้
ประเทศที่พัฒนาแล้วอีกความหมายหนึ่งคือ ความหมายที่อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวไว้คือ “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน และเท่าทันอนาคต” ประเทศที่จะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่ขาดจากกัน สามารถนำรากเหง้ามาต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจในปัจจุบันให้ได้ ชาติที่จะอารยะหรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้จริงจะต้องมีอดีตปัจจุบันและอนาคต ประเทศไทยจะไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นจะต้องเดินสองขา คือขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ซึ่งสามารถเข้ามาช่วยงานทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือก่อนประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันอีกขาหนึ่งคือขาด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ตนอยากให้มีการทำโครงการในลักษณะนี้ในภูมิภาคอื่นๆเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีความเข้มแข็ง และมีบทบาทสูงกับศิลปะวัฒนธรรมของชาติอีกทั้งยังเป็นศิลปะที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจพอเพียง รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.