ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็นวัน “เทคโนโลยีของไทย”
ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลและพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงสังเกตวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้นว่าจะทรงค้นหาวิธีทำให้เกิดฝนให้ได้เพื่อบรรเทาปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนชาวไทยที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2498 จึงได้ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริฝนหลวง และทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ดำเนินการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวง จนในที่สุดได้ค้นพ้บวิธีการทำฝนเทียมแบบใหม่ของประเทศไทยโดยเฉพาะ และในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่นกระจาน จ.เพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก
ด้วยพระอัจฉริยภาพพระวิสัยทัศน์และพระวิริยะ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยในเวลาต่อมาทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลงานในด้านเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการแกล้งดิน โครงการหญ้าแฝก โครงการแหลมผักเบี้ย โครงการแก้มลิง โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการคลองลัดโพธิ์ เป็นต้น
ปวงชนชาวไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาโดยตลอด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 พร้อมทั้งกำหนดวันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี ให้เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ ครั้งแรกของโลก
เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนให้แก่พสกนิกร และสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมากมาย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” โดยให้กำหนดจัดขึ้นในทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา นอกจากเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังเป็นการเผยแพร่ผลงานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทยภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กร สมาคม อีกทั้งยังเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางธุรกิจ และบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะจัดพิธีถวายพานพุ่มและถวายราชสดุดีเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น พระบิดาแห่งเทคโนโลยของไทย เนื่องในวันเทคโนโลยีของไทย ประจำปี 2559 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนน พระรามที่หก กรุงเทพฯ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : หนังสือพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
เรียบเรียง/เผยแพร่ โดย : นายภูษิต โพธิ์แสง
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 02 333 3821
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.