พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ ปี 64 วันที่ 10 พ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมมอบรางวัล PM Award “เอนก” เผย 10 ปีที่ผ่านมาเด็ก - เยาวชนเข้ามาชมและสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น แถมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศแม้อยู่ในช่วงโควิด ด้าน ปลัด อว. ระบุ วันที่ 9 - 19 พ.ย.นี้ ตื่นตาตื่นใจกับงายในรูปแบบไฮบริดครั้งแรกของการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(1 พฤศจิกายน 2564) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมงาน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า งานมหกรรมวิทย์ ไม่ใช่เพียงแค่อีเว้นท์ แต่เป็นงานที่จะเปลี่ยนระบบความคิดของคนไทยให้หันมาสนใจและชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และจับต้องได้ และตนได้รับข้อมูลมาว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนที่ได้เข้ามาชมงานมีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและจับต้องได้ และดึงดูดให้คนในครอบครัวอยากมาเที่ยวชมงานในทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ชื่นชอบในการแสวงหาความรู้ ทั้งนี้ เรื่องที่ อว.จะทำต่อไปคือเยาวชนดูแลผู้สูงวัย ทั้งหมดนี้เป็นมิติต่างๆ ของเยาวชนที่ อว.กำลังจะฝึก ให้ความรู้ ให้แรงดลใจ นอกจากเยาวชนกับวิทยาศาสตร์ ที่ อพวช. ได้ดำเนินการในงานมหกรรมวิทย์ฯ จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยในรอบปีที่ผ่านมาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อย แม้จะมีโควิดก็ไม่หยุดยั้ง เช่น ผลงานด้านการทำดาวเทียมกระป๋อง ทำโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ การทำอาหารที่ใช้ในอวกาศ จนได้รางวัลจาก NASA (นาซ่า) JAXA (แจ๊คซ่า จากประเทศญี่ปุ่น) ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพประเทศไทยจะเป็นชาติวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมได้อย่างแน่นอน เราจะดีดตัวเองออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยในปี 2570 อว.มุ่งมั่นว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้
“ที่สำคัญมหกรรมวิทย์ฯ ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดวันที่ 10 พ.ย.นี้ พร้อมมอบรางวัล PM Award ให้แก่ครูอาจารย์และนักเรียนที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่นเพื่อเป็นการเชิดชูและให้กำลังใจบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า งาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 9 - 19 พ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในรูปแบบไฮบริดอีเว้นท์ ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ หรือเลือกรับชมจากที่บ้านก็ได้ ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art - Science - Innovation and Creative Economy)” โดยไฮไลท์ของงาน คือการจัดแสดงงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม “BCG Model : Bio - Circular - Green Economy” และเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1st BCG Science Fair in SEA) ที่จุดประกายความคิด สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG
ด้าน นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รักษาการแทน ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ ปีนี้ มี 7 ประเทศ 78 หน่วยงานพันธมิตร ร่วมโชว์ผลงาน สามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์ ‘เต-ตะวัน’ และเหล่าคนดังที่มาเยี่ยมชมงานที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน และช่องทางที่สองคือเข้าชมงานในสถานที่จริง (On ground Platform) ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 - 19 พ.ย. ณ อาคาร 9 - 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงานฟรี! ตั้งแต่เวลา 09.00 - 19.00 น. พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์เข้าชมงานล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์งาน
สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือ ติดต่อ อพวช. โทร 0 - 2577 - 9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.