18 พฤศจิกายน 24564 ณ จังหวัดเชียงใหม่ / ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในการประชุมวิชาการระดับชาติ ปอมท. ประจำปี 2564 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานการมอบโล่รางวัลพระราชทาน อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ของ ปอมท. ประจำปี 2564 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ยืดหยุ่นอุดมศึกษาไทย ในห้วงเวลาที่พลิกผัน เยี่ยมชมเครื่องเร่งอนุภาคลำไอออนที่ใช้พัฒนาพันธุ์ข้าวลำไอออน ที่ศูนย์ฟิสิกส์ของพลาสมาและลำไอออน และศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ และโครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีที่ได้กลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง การประกอบ วิชาชีพครูอาจารย์ เป็นกุศลแห่งชีวิต เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างจริยธรรมให้กับเด็กนักศึกษา นิสิต ให้กับประเทศชาติ เป็นอาชีพที่ดีมาก บทบาทของอาจารย์และครูในการเป็นผู้นำ เป็นผู้มีปัญญา เป็นสิ่งสำคัญต่อลูกศิษย์ คนเป็นอาจารย์ที่ต้องทำให้ได้สองอย่าง คือ หนึ่งการเป็นผู้นำ และสองการเป็นครู การเป็นผู้นำสำคัญมาก เด็กที่เข้ามาเรียนกับเราตั้งแต่ปีหนึ่งต้องการต้นแบบที่เป็นผู้นำ นอกจากเราจะทำหน้าที่สอนหนังสือและคิดถึงหัวข้อเนื้อหาต่างๆ แต่จริงๆแล้วเด็กอาจจะจำไม่ได้ว่าเราสอนอะไรแต่จะจำได้อะไรดีดีที่เป็นผู้นำของเรา การเรียนรู้ไม่ใช่เกิดจากความคิดที่หลากหลายอย่างเดียว การลงโทษคือการสอนโดยสัญชาตญาณ การที่ครูลงโทษจะกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การเป็นผู้นำ จะต้องพูดความจริงและพูดในสิ่งที่ถูก ครูเป็นผู้นำเป็นคนที่บอกให้เด็กรู้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดอะไรดีอะไรชั่ว ครูอาจารย์ที่ดีจะต้องต้านกระแสและเป็นต้นแบบในการแนะนำเด็กให้ไปในทางที่ถูกที่ควร อีกอย่างหนึ่งก็คืออาจารย์ต้องเป็นครู ซึ่งเดิมครูเรียกถึงผู้สอนทุกระดับและคำว่าอาจารย์เรียกสำหรับคนที่จบปริญญาตรีสอนในมหาวิทยาลัยแต่ครูและอาจารย์คล้ายๆกันแต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เราต้องการให้อาจารย์เป็นครูด้วยไม่ใช่เป็นแต่อาจารย์ การเป็นครูก็คือต้องสนใจนักศึกษานิสิตอย่างที่เป็นคนๆหนึ่งไม่ใช่เฉพาะคนที่มาฟังบรรยายหรือไม่ใช่เฉพาะคนที่มารับฟังการสอนของเรา แต่ต้องสนใจคนๆนั้น ทั้งความใฝ่ฝัน ความหวัง ความทะเยอทะยาน เราต้องดูแลเขาเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งแต่ละรายไม่เหมือนกัน การเป็นครู ไม่ได้คำนึงถึงเงินเดือน รถ บ้าน แต่คิดถึงชีวิตของเด็กและทุ่มเทให้กับเด็ก เปรียบเสมือนชีวิตของเด็ก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวถึงช่วงวัยหรือเจเนอเรชั่นของคนที่แตกต่างกัน ว่า การเรียนการสอน การเป็นผู้นำของคนในยุคปัจจุบัน มีปัญหาอยู่เรื่องหนึ่ง คือ นักเรียนนักศึกษานิสิตเป็นคนละรุ่นกับครูอาจารย์ ซึ่งไม่สามารถเทียบกันได้ ทุกวันนี้การพูดถึงสิ่งที่มีเหมือนกัน คือ โซเชียลมีเดีย เด็กไทยหรือเด็กเอเชียอาคเนย์ที่เรียกว่าเทียบกันได้ยาก อยากฝากให้พวกเราช่วยคิดว่าการแบ่ง generation ของคนในสังคมไทยจะแบ่งยังไงให้ได้ความจริงของประเทศไทย ผมคิดว่า generation ของเราแต่ละเจนมีวิธีการแบ่งที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนของฝรั่งและมีคุณลักษณะประจำตัวที่ไม่เหมือนกัน Gen Z ของไทยจริงๆ มีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งเราจะได้จากการวิจัย อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ Generation ต่างๆ ในอุดมคติต้องประสานเข้าด้วยกันไม่ใช่ขัดแย้งกัน ซึ่งประเทศไทยเชื่อว่าเราสามารถมีความแตกต่างได้แต่ต้องประสานเข้าหากัน อันนำไปสู่ความก้าวหน้า
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า หัวข้อในการอภิปรายในวันนี้ มีคำสำคัญคือ พลิกผัน สถานการณ์ประเทศไทยในโลกยุคปัจจุบัน อยู่ในยุค Disruption การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ผู้คนรุ่นใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการของธุรกิจต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ทำให้มีการพัฒนาระบบ พัฒนาแนวคิด พัฒนาทางการตลาดที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเทรนก็ของโลก ทุกอย่างต้องรวดเร็ว เร่งรีบ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อโลกการคิดแบบเร็วๆ จะทำให้เราคิดไม่รอบคอบ ขาดการมองรอบด้าน ในระดับอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกันนิสิตนักศึกษาคุ้นเคยกับการได้รับข้อมูลจำนวนมากและรวดเร็วโดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์ บ่อยครั้งที่การได้รับข้อมูลมาและนำไปส่งต่อทันทีโดยไม่ได้ดูข้อมูลทั้งหมด ทำให้เราติดอยู่ในโลกที่คิดคล้ายกับเรา คือ เมื่อเราเห็นข้อมูลที่คล้ายกับความคิดของเราและนำเสนอต่อไปทันทีโดยที่ไม่ได้อ่านถี่ถ้วนก่อน เราควรที่จะตั้งใจในการรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ ไม่ใช่รับฟังความคิดจากกลุ่มๆเดียว เราต้องกลับมาใช้ปรัชญาเดิมของตะวันออกเรา ดังนั้นเราต้องกลับไปทบทวนของเดิมของดีของเรา มองและคิดอะไรช้าๆ คิดให้ถี่ถ้วน สงบ จะทำให้เกิดปัญญาที่จะไปช่วยโลกของคนที่ติดกับสมาร์ทโฟน ติดกับการรับข่าวสารที่เห็นตรงกับความคิดตัวเอง เราต้องทันต่อโลกในยุคโลกาภิวัตน์ เราต้องเห็นโลกเป็นโอกาสและมองโลกให้รู้ซึ้งถึงปัญหา เราจะจำกัดเวลาในการใช้ชีวิตของเราอย่างไร ซึ่งจะทำให้ครูอาจารย์ในปัจจุบันสังคมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“อีกเรื่องคือเรื่องของดาต้าหรือข้อมูล จริงๆแล้วความรู้ของคนนอกจากขึ้นอยู่กับเรื่องของดาต้าแล้ว อีกส่วนที่สำคัญ คือ มุมมอง ข้อมูลชนิดเดียวกันอาจเห็นแตกต่างกันได้ เปรียบเสมือนคนที่มองโลกในแง่ลบแง่บวก มุมมองของเราที่อยากจะเห็น คือ ต้องคิดว่าอยากให้มหาวิทยาลัยงต่างๆก้าวหน้ากว่านี้ โดยมองที่ภาพใหญรๆประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ เราต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ท (mindset) มองให้เห็นปัญหาต่างๆ ว่ามันเป็นโอกาส การมองเห็นปัญหา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำพประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน” รมว.อว. กล่าว
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รมว.อว. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมเครื่องเร่งอนุภาคลำไอออนที่ใช้พัฒนาพันธุ์ข้าวลำไอออน ที่ศูนย์ฟิสิกส์ของพลาสมาและลำไอออน ซึ่งนักฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาสร้างเครื่องเร่งอนุภาคขึ้นเองแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ เพื่อค้นคว้าวิจัยอันตรกิริยาระหว่างไอออนกับสสาร หนึ่งในการค้นคว้าวิจัยดังกล่าว คือ การระดมยิงลำไอออนพลังงานต่ำไปยังเซลล์ของพืชและแบคทีเรีย ซึ่งประสบผลสำเร็จในการทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ระดมยิงด้วยลำไออนมวลหนักเป็นครั้งแรกในโลก หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมนักวิจัยฟิสิกส์ วิศวกรรม วิศวกร นักเทคโนโลยีควอนตัม อันนำไปสู่การนำเอาเทคโนโลยีควอนตัมมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศไทยในที่สุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.