(22 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (THAILAND RESEARCH EXPO 2021) ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” แบบ New Normal โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “โควิด COVID-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยนวัตกรรม” พร้อมด้วย ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว., ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อว., นางสาวจันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2580 เพราะฉะนั้นงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องลงมือทำอย่างจริงจังไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งที่ทำในวันนี้เป็นการทำเพื่อคนรุ่นหลัง ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ต้องเริ่มจากการเป็นประเทศที่มีมีรายได้สูง ต้องเดินด้วย 2 ขา คือ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ต้องการงานวิจัย ทฤษฎี และการถอดบทเรียนที่จริงจัง ปัจจุบัน อว. ทำงานต่าง ๆ สำเร็จ เพราะเชื่อและคาดหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีขึ้น นอกจากรู้จักปัจจุบันแล้วต้องรู้จักอดีต ภูมิใจ และต่อยอดหลายสิ่งไปสู่กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ ประเทศที่พัฒนาแล้วควรต้องมีทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์
รมว.อว. กล่าวต่อว่า โควิด-19 ทำให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ก้าวไปได้ดี ปรับตัวได้เมื่อมีวิกฤต สังเกตได้จากความสามารถในการผลิตวัคซีนใช้เองได้ในไทย เช่น วัคซีน mRNA และ วัคซีนใบยา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในคน, การจัดทำห้องความดันลบ, หน้ากากความดันบวก, และชุด PPE ในวิกฤตไทยสามารถเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจแบบที่เป็นประเทศพัฒนาเองแล้วได้ หลังโควิด-ไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ และมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า งานนี้เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เชื่อมโยงการบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ซึ่งจัดร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ คัดผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 500 ผลงาน มาให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาเรียนรู้อย่างใกล้ชิดขึ้น และจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 16 แล้ว ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” แสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในปีนี้ วช. ได้มีการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ Covid Free Setting ได้รับการร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมทั่วประเทศในการร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ด้วยความตั้งใจที่ วช. จะส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบผสมผสานที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite สามารถเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างปลอดภัย
ปีนี้ วช. ได้นำประเด็นตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงนโยบายของรัฐและประเด็นที่เป็นปัญหา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกที่ได้เผชิญวิกฤตการการระบาดของโรคโควิด-19 มากำหนดเป็นธีมในการนำเสนอผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อ ดังนี้ 1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Model 6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 7) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ พร้อมทั้งนำเสนอนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทยและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และนิทรรศการเทิดพระเกียรติฉายพระอัจฉริยะภาพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการการนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในวิจัยทั่วประเทศในรูปแบบไฮบริด โดยมีการจัดประชุมสัมมนาด้วยระบบออนไลน์กว่า 100 หัวข้อ และสามารถชมนิทรรศการได้ในรูปแบบ Visual Exhibition ที่จำลองบรรยากาศงานผ่านแพลตมฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการ Live ในแต่ละวัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 26 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.