(30 พฤศจิกายน 2564) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว เอชพีอี ผนึกศูนย์ไทยเอสซี ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยกระดับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไทย ด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียน เพื่อรองรับการวิจัยและประมวลผลข้อมูลขั้นสูง เผยผลงานล่าสุดประมวลผลข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัส เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรักษาโรคโควิด หลายหน่วยงานรวมถึงการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ล่วงหน้า 3 วัน โดยมี ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อว. และคณะผู้บริหาร อว. เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม hyatt regency bangkok sukhumvit
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ ในแง่ของการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการวิจัย การทำนวัตกรรม หรือในการคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ PM 2.5 ต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นต้น การต่อยอดจากนี้ สวทช. ต้องหาวิธีการที่จะทำให้ความสามารถขององค์การที่จะสานเทคโนโลยีไทยก้าวหน้าตามการที่เรามีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่เราได้จากฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งก็เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดของโลกก็พูดอย่างนั้นได้ เพิ่มความสามารถในทางด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ทำเรื่องความเร็วของคอมพิวเตอร์ Ai ได้ด้วยก็ยิ่งดี เพราะว่าเรามีเครื่องมือที่ดีอย่างนี้ ทำอะไรให้มากกว่าการเป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยี ต้องมาศึกษาและกล้าที่จะคิดว่าจะทำอะไรเพิ่ม อาจจะพึ่งตนเองทีเดียวไม่ได้แต่ก็จะต้องเพิ่มการพึ่งตนเองขึ้นเป็นลำดับ เราจะไม่ซื้อเทคโนโลยีตลอดไป จะพยายามเพิ่มการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีให้ได้ทีละก้าว นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเปลี่ยนให้มันคุ้มกับการที่เราได้เทคโนโลยีที่เราไปซื้อมาให้มันได้สัดส่วน ต่อไปนี้งานวิจัย นวัตกรรม ธุรกิจที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ใช้ Ai คิด ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ ก็จะมียิ่งกว่าคอมพิวเตอร์ตัวอื่น ฝาก สวทช. ว่าต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผู้บริหารประเทศทุกระดับให้ได้เห็นความสำคัญและก็ทำอย่างไรให้ใช้มันได้อย่างเต็มที่ แม้แต่ด้านศิลปะ ออกแบบก็ใช้ได้ แล้วต้องทำให้ประชาชนได้ตระหนักว่าสิ่งนี้คืออะไร ใช้อย่างไร เพื่อจะทำให้การที่เรามีซูเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นไปอย่างกว้าง ขอชื่อชมกับ สวทช. กับทางผู้บริหาร นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีของ สวทช. ที่ช่วยกันจนวันนี้เรามี HPE EX
นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย)หรือ เอชพีอี กล่าวว่า บริษัท เอชพีอี มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจ จากศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูงหรือไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: ThaisC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ของ สวทช. ในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถะสูงขนาดใหญ่ หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในระดับประเทศ
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้นำเสนอระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นที่ดีที่สุดของ Hewlett Packard Enterprise (HPE) คือ HPE Cray EX supercomputer ซึ่งจะเป็นระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการจัดอันดับประสิทธิภาพซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และมีขีดความสามารถการคำนวณที่สูงกว่าระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ สวทช. มีอยู่เดิมถึง 30 เท่า อีกทั้งมีการระบายความร้อนด้วยของเหลว (lilquid cooling) ที่ให้ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานไฟฟ้า (PUE) ที่ดีที่สุด โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูลความเร็วสูงอย่าง Cray ClusterStor E 1000 ที่เชื่อมต่อด้วย HPE Slingshot Interconnect ระบบดังกล่าวคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2565
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: Thaisc) เป็นหนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ของ สวทช. สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยฯ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยที่ระบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนนักวิจัยทั้งจากการทำงานให้กับนักวิจัย อันได้แก่
- ด้านปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Arificial Intelligent & Big Data Analytics) ต้องใช้ระบบ HPC ในขั้นตอนการสอน AI โมเดล (training) ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูงโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการพัฒนา
- ด้านการแพทย์ การถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม เชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีการระบาดในประเทศ
- ด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างแบบจำลองมลพิษ PM 2.5 ในประเทศไทย
ปัจจุบันไทยเอสซี (ThaisC ) ให้บริการการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High Performance Computing: HPC) ภายใต้ระบบคลัสเตอร์ TARA HPC โดยให้บริการกับโครงการวิจัยภายใน สวทช. เป็นหลัก และได้มีการเปิดรับโครงการจากภายนอก สวทช. ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.