13 ธันวาคม 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดและแสดงปาฐกถาพิเศษในโครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ "ศิลปะและวัฒนธรรมนำชีวิต กล่อมเกลาจิต สร้างสรรค์ชีวิต และสังคม" ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา เกาะยอ อ.สงขลา จ.สงขลา โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหาร อว. คณะผู้บริหารจาก ม.ทักษิณ คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมงานดังกล่าว
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การรักษาศิลปวัฒนธรรมเป็นการรักษาชาติ คำกล่าวนี้เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมมีความยินดีที่มาร่วมในงานวันนี้ ขอชื่นชมสถาบันทักษิณคดีศึกษา ขอชื่นชมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งการมาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ผมได้มีโอกาสไปตรวจเยี่ยมทั้งวิทยาเขตพัทลุงและวิทยาเขตสงขลา ผมได้เล็งเห็นว่า ม.ทักษิณ มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางสังคม สถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นสถานบันแนวหน้าที่มีการศึกษาทางด้านโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ผมหวังว่าในอนาคต มหาลัยทักษิณและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สนใจจะเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันโครงการและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญร่วมกับวิทยาสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ หรือเรียกว่า ธัชชา ของ อว. ซึ่งเราศึกษาย้อนโบราณคดีประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ย้อนไปสู่ยุคสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้มีบทบาทสูงขึ้น ผมขอเชิญชวนนักปราชญ์ นักวิชาการหรือบุคลากรในแวดวงการศึกษา มาช่วยกันคิด ช่วยกันริเริ่ม ช่วยกันทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยกลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลกและไม่สูญหายไปกับกาลเวลา
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นลำดับที่ 7 ของโลก เป็นอะไรที่พวกเราดีใจกัน ในเอเชียประเทศที่มีอันดับสูงกว่าประเทศไทยมีประเทศเดียวเท่านั้นคือประเทศอินเดีย สิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ทุกท่านสามารถสังเกตเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรม สุนทรียภาพ ความงาม ดนตรีของไทย มีการสนับสนุนค่อนข้างน้อย แต่กลายเป็นว่าเราถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับที่ 7 ของโลก ทั้งทั้งที่เราไม่ได้ผลักดันอะไรมากมาย เราควรเอาเรื่องนี้มาคิดให้มันลึกมากยิ่งขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยในภาคใต้หลายแห่ง รวมทั้งมหาลัยทักษิณ มีศักยภาพที่จะทำการศึกษา วิจัย สร้างสรรค์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณและทุกๆอย่างที่เป็นของไทย และพยายามอธิบายให้ได้ว่า ทำไมเราถึงมีมรดกทางวัฒนธรรมสูงขนาดนี้และนำมาถอดเป็นบทเรียนและเผยแพร่ต่อไป
รมว.อว. กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้นักศึกษาของเราเรียนกันเอง เรียนจากสิ่งแวดล้อม จากชุมชน อาจารย์สอนน้อยในประเด็นของศิลปวัฒนธรรมและไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ตัวแทนหนึ่งที่สำคัญที่สามารถถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม คือ ลลิษา มโนบาน หรือ ลิซ่า Blackpink ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้ศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรม แต่ในตัวของเธอมีดีเอ็นเอของคนไทย จึงสามารถถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของไทยออกไปสู่สากลได้อย่างโด่งดัง จนทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยกลายเป็นที่รู้จักระดับโลกเพียงข้ามคืน ผมขอฝากเป็นแง่คิดเรื่อง อารยธรรม ศิลปะ ศาสนา อะไรต่างๆที่เมื่อก่อนเราทำเพราะว่าเรารักความเป็นไทย แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนสิ่งที่เราทำก่อให้เกิดรายจ่ายตามมา แต่ขณะนี้ สิ่งที่เราสื่อสารและเผยแพร่อารยธรรม ศิลปวัฒนธรรมไทยจากรายจ่ายตอนนี้กลายเป็นรายรับเข้าสู่ประเทศ ยุคปัจจุบันเราสามารถทำให้ศิลปวัฒนธรรม อารยธรรมดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์ของไทยให้เปลี่ยนเป็นรายได้ให้กับประเทศได้ เรียกว่า ยุคอุตสาหกรรมทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบมาก บรรพบุรุษของเราแต่เดิมสนใจเรื่องศาสนาและอารยธรรม วัฒนธรรม ซึ่งเยาวชนรุ่นหลังสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งเรานี้ได้และนำไปต่อยอดประสานกับกระแสโลกจนกลายเป็นอนาคตของวิชาชีพการงานและเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมอยากให้สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาและอีกหลายๆมหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมขึ้นอีกจากที่ศึกษามาแล้วและนำมาแปรเปลี่ยนให้เป็นการท่องเที่ยว เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ ที่สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้
“อีกประการหนึ่งจากการที่ผมได้ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยในทุกๆที่ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเกิดจากส่วนกลางมีลักษณะเป็นกรมแต่มีลักษณะแปลกคือตั้งอยู่บนท้องถิ่นต่างๆ ผมก็พบว่ามหาวิทยาลัยของ อว. เป็นที่ยอมรับของจังหวัดของภูมิภาคของสังคมมาก ซึ่งทำให้เรามีพลัง การที่เรามีบางมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองและอยู่นอกเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละพื้นที่ ผมอยากจะเชียร์ให้เกิดความคลุกคลีระหว่างคนในจังหวัดกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นกำลังของคนในพื้นที่ ของจังหวัด ของภาค และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนจังหวัดหรือภาคนั้นนั้นให้เจริญเติบโตและพัฒนาสืบต่อไป” รมว.อว. กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.