(6 มกราคม 2565) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม - ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ เข้าเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ทั้งในส่วนอิเกียคาเฟ่แอนด์อินโนเวชัน คณะวิศวกรรม คลินิกสุขภาพช้างฯ คณะสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน- Central Lab-เทคโนโลยีห้องบ่ม ของคณะเกษตร โดยมี รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของบริการวิชาการและแนวทางที่ อว. จะสนับสนุนได้ รวมถึงโครงการ U2T พร้อมกล่าวให้กำลังใจและชื่นชมการทำงาน
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. และคณะ ได้ร่วมพูดคุยหารือกับคณะผู้บริหารของวิทยาเขตกำแพงแสน ทั้งในส่วนของการแนะนำกิจการในภาพรวม การบริการวิชาการ การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในเรื่อง อว.ส่วนหน้า และโครงการ U2T โดย ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมและให้กำลังใจคณะผู้บริหาร นักวิจัย อาจารย์ และบุคลากรทุกท่านของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ในการดำเนินงาน จากนั้นได้เริ่มต้นเข้าเยี่ยมชม อิเกียคาเฟ่แอนด์อินโนเวชัน (IGEAR Innovation and Cafe) อาคารนวัตกรรมที่มาพร้อมร้านกาแฟ ตั้งอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน พร้อมรับฟังการดำเนินงานของคณะ ต่อด้วยเข้าเยี่ยมชมศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ พบกับ เครื่องตัดข้อตาอ้อยด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ เครื่องฝังกลบปุ๋ยให้เหมาะสมกับการเจริญของรากอ้อยในแต่ละช่วงอายุการเจริญเติบโต ซองบังคับวัว และรถเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังซึ่งเป็นรถต้นแบบอัตรากำลังเก็บเกี่ยว 1.2 ไร่ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบรรจุถุงสำหรับทำเสลดเป็นอาหารสัตว์และเครื่องซีลสูญญากาศ ตลอดจนนวัตกรรมอบแห้งทางวิศวกรรมเกษตร silo ข้าวเปลือก ควบคุมผ่านระบบสกาดา (scada) ใช้งานผ่านแท็บเล็ต เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0
ภายหลังเยี่ยมชมฝ่ายเครื่องจักรกลแล้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. และคณะ เข้าเยี่ยมชมคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ซึ่งได้พบกับน้องเปาเปา ช้างน้อยที่กำลังรอการรักษาผ่าตัดตาอยู่ในบริเวณคลินิก โอกาสนี้ได้ร่วมพูดคุยกับทางนักวิจัยสัตวแพทย์ถึงแนวทางการขยายผลการรักษาช้างและสัตว์ป่า และการศึกษาดูงานในส่วนของการอนุรักษ์ช้างไทยด้วย
จากนั้น เป็นการเยี่ยมชมกิจการใน 3 ส่วนของคณะเกษตร กำแพงแสน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของวิทยาเขต ทั้งในส่วนของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน (TVRC) ซึ่งศูนย์วิจัยแห่งนี้ มีการวิจัยและพัฒนาให้เป็นต้นแม่พันธุ์ พร้อมปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทนทานต่อโรคและแมลง ทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีลดลง รวมถึงงานด้านการถ่ายทอด การปลูก การอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรม โดยนักวิจัยของศูนย์เปิดเผยว่า ช่วงที่มีการจัดงานเกษตรศาสตร์กำแพงแสน (เกษตรแฟร์) นับแต่ปี 2560 ฝึกอบรมความรู้ในเรื่องดังกล่าวไปแล้วมากกว่า 60,000 คนเลยทีเดียว พร้อมกันนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมห้องเย็นเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีห้อง short term storage ที่ 10 องศา และ middle term storage ที่ 5 องศา เพื่อเก็บพืชพันธุกรรมไว้ใช้อนาคต โดยห้องเย็นที่นี่นับว่ามีความหลากหลายของสายพันธุ์มาก ถือเป็นสมบัติของชาติแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้
ส่วนที่สองคือ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง (Central Lab) ซึ่งมีการดำเนินงานวิจัยด้านต่าง ๆ คือ เทคโนโลยีชีวผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงเกษตร นวัตกรรมและเทคโนโลยีสะอาด โดยศูนย์แห่งนี้ได้มีการถ่ายทอดสอนวิชา module ฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร วิเคราะห์คุณภาพน้ำ การเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วย และที่สำคัญในปีนี้มีเพิ่มเติมงานบริการวิชาการทางด้าน U2T for BCG / non degree ด้านผลิตสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย และปิดท้ายด้วยส่วนที่สามคือ การเข้าเยี่ยมชมการดำเนินศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งได้เข้าเยี่ยมชมห้องแล็บ กระบวนการ pilot packing house และเยี่ยมชมเทคโนโลยีห้องบ่มผลไม้ ซึ่งช่วงนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการบ่มผลไม้อะโวคาโด นอกเหนือจากผลไม้เด่น ๆ ที่มีอย่างมะม่วงหรือทุเรียน เป็นต้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.