วันนี้ (13 มกราคม 2565) เวลา 12.00 น. ฯพณฯท่าน นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) พร้อมคณะ เข้าพบหารือร่วมกับ ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องพระจอมเกล้า สป.อว. โดยได้เสนอประเด็นนโยบาย Japan’s “Asia-Japan Investing for the Future Initiative” และร่วมหารือในประเด็นการประสานความร่วมมือระหว่าง BCG Economy Model ของไทยกับ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น ในการนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. และ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัด อว. เข้าร่วมการหารือดังกล่าวด้วย
โดยในโอกาสนี้ ฯพณฯท่าน นายฮากิอูดะ ได้นำเสนอนโยบาย Japan’s “Asia-Japan Investing for the Future Initiative” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม ที่มากกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิตที่มีแต่เดิมในไทย ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับปัญหา Aging Society การเตรียมความพร้อมเรื่อง Energy Transition และการฟิ้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยยึดแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนของประเทศในเอเชีย ภายใต้แนวคิด Kyo So หรือ co-creation โดยแนวคิดนี้ก็ได้มีการริเริ่มไปบ้างแล้ว เช่น บริษัทผลิตเส้นใยจากวัตถุดิบธรรมชาติ บริษัทประกอบกิจการโดรนเพื่อการเกษตร บริษัทใช้เทคโนโลยีพัฒนาศักยภาพด้านการประมง และการส่งเสริมโครงการ Telemedicine platform ในภูมิภาคอาเซียน โดยได้เน้นย้ำถึงความสอดคล้องของนโยบาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น และสอดคล้องกับ BCG Economy Model ของไทย อย่างดียิ่ง
อว. สนับสนุนแนวคิดความร่วมมือ Asia-Japan Investing for the Future (AJIF) รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวคิด Co-creation เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผ่านการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในหัวข้อต่างๆ อีกทั้งยังยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการลงทุนในบริษัทประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมวิจัยและพัฒนาตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในสาขาเป้าหมายของ AJIF การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจสีเขียว ความเชื่อมโยง ดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศและภูมิภาคเอเชียโดยรวม
ทั้งนี้ผู้บริหารของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือรายสาขาที่ต้องการผลักดันและสานต่อ เช่น การวิจัยและพัฒนาในด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อต่อขยายไปถึงอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต การขอรับการสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นที่เกี่ยวของกับระบบราง ความประสงค์ในการพัฒนาความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับ Space Economy และ Telecommunication การดำเนินการในปัจจุบันในการติดตั้งเครื่องกำเนิดแสง Synchrotron ในพื้นที่ EECi แผนการจัดตั้ง Thailand Academy of Science ที่ อว. กำลังริเริ่มโดยใช้แบบโมเดลจากหลายประเทศรวมทั้ง โซเคนได (SOKENDAI) ของประเทศญี่ปุ่น พร้อมกันนี้ยังได้มีการหารือถึงความสำเร็จของโครงการ THAI KOSEN ในปัจจุบันรวมถึงการหารือเพื่อพัฒนาหลักสูตร KOSEN ให้ได้การรับรองจากญี่ปุ่น (Credential) และการส่งเสริมให้เกิดการฝึกงาน (Internship) ในประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ได้ให้ความสนใจในทุกประเด็นที่ อว. นำเสนอ และพร้อมที่จะมีการขยายความร่วมมือต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น
ภายหลังจากการพบปะหารือของทั้งสองฝ่าย ฯพณฯท่าน นายฮากิอูดะ และ ศ.(พิเศษ) อเนก ได้มีการแลกเปลี่ยนเอกสารกรอบแนวทางการดำเนินการ (Framework Document) ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการว่าด้วยความร่วมมือด้าน Green Growth Strategy และ Bio-Circular-Green Economy Model เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยตระหนักถึงการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของทั้งสองประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.