วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รมว.อว. พร้อมคณะ เข้าตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเพาะช่างและชมนิทรรศการ “อัตลักษณ์เพาะช่าง อัตลักษณ์ไทย” ที่บอกเล่าถึงรากเหง้า ความเข้มแข็งและศักยภาพของวิทยาลัยเพาะช่างในสถานะการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมของไทย โดยมี ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างนำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเพาะช่าง
รมว.อว. กล่าวว่า อว. ได้ตระหนักว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ เพราะมีดีเอ็นเอเดิมที่เป็นชาติทางด้านศิลปิน การร้อง การรำ และดนตรีสูงมาก ต้องขอชมเชยทางวิทยาลัยเพาะช่าง เรื่อง การสร้างเกียรติภูมิของชาติ ศิลปิน ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และผู้ที่มีอัตลักษณ์แบบไทย ได้รับการยอมรับให้สมกับความสามารถ และศักยภาพที่มี หนทางที่จะตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เฉพาะทางในด้านศิลปะ สุนทรียะ และอารย เป็นสิ่งน่าสนใจมาก ทาง อว. พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่
"ขอให้คณะทำงานมีกำลังใจ เพราะการจะเกิดอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ไปต้องเปลี่ยน Mineset ให้เป็นผู้บุกเบิกทำให้ศิลปะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญของชาติ โดยเฉพาะศิลปะ สุนทรียะ และอารยที่มีพื้นฐานแบบไทย สิ่งนี้จะเป็นการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งขอให้ทำอย่างเต็มที่ ทำอย่างรวดเร็ว ซึ่งทาง อว. ก็จะทำอย่างเต็มที่เช่นกัน"
ด้าน ผศ.บรรลุ เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของวิทยาลัยเพาะช่างและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในเชิงประจักษ์ของสังคมทั้งจากส่วนของคณาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน วิทยาลัยเพาะช่างทราบถึงแนวนโยบายที่สำคัญของกระทรวง อว. คือ อว. จะเป็นกลไกหลักที่จะขยับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2580 เป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนนำพาประเทศและสังคมเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดย อว. มีแผนเดินด้วย 2 ขา คือ ขาของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและขาด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อยกมูลค่า คุณค่า ราคาของประเทศไทยให้สูงขึ้นด้วยการใช้อารยธรรมไทย
สำหรับวิทยาลัยเพาะช่างนั้น มีปรัชญาว่า ความเจริญในศิลปวิชาการช่างเป็นเครื่องวัดความเจริญชาติ ตามกระแสพระราชดำรัสรัชกาลที่ 6 ในวันเปิดโรงเรียนเพาะช่าง พ.ศ.2456 มีปณิธาน คือ มุ่งมั่นสร้างสรรค์และทำนุบำรุงศิลปะการช่างของไทยให้เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของชาติ มีวิสัยทัศน์ คือ ฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน บำรุง สร้างสรรค์ศิลปะการช่างของไทย โดยมีพันธกิจ เป็นสถาบันหลักในการสร้างบุคลากรด้านศิลปวิชาการช่างไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขับเคลื่อนประเทศชาติด้วยงาน ฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน วิจัย พัฒนา สร้างสรรค์ สนับสนุน เผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่ 1. เป็นศูนย์บริหารจัดการองค์ความรู้ ด้านศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะชน ทั้งในด้านความรู้และผลงานสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ 2.ถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อสืบสานดำรงความเป็นไทยและต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ศิลป์ และ 3. สร้างงาน สร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ งานวิจัย และนวัตกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. และยุทธศาสตร์ชาติ
แม้ในวันนี้เพาะช่างจะยังไม่สามารถดำเนินการตามวิสัยทัศน์ พันธกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่วิทยาลัยเพาะช่างมีความเชื่อมั่น มีความหวัง ว่าหากได้รับการสนับสนุนผลักดันอย่างเต็มที่ วิทยาลัยเพาะช่างก็มั่นใจและพร้อมที่จะเป็นกำลังหลักสำคัญหนึ่งของกระทรวง อว. และของประเทศชาติ ที่จะใช้ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม สนับสนุนส่งเสริมอารยธรรมไทยให้เป็นอาวุธสำคัญที่สามารถสร้างชื่อเสียง สร้างการยอมรับ เป็นขาที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนนำพาประเทศสู่จุดมุ่งหมาย ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากลต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.