21 กุมภาพันธ์ 2565 ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิด “การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ : สถาบันพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ” ณ สวนเสียงไผ่ ถนนศรีวรา แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ประการแรกที่ต้องเริ่มดำเนินการ คือ พวกเราที่ทำงานด้านการพัฒนาทั้งหลายต้องตระหนักว่าประเทศไทยเวลานี้ไม่ใช่ประเทศชนบทอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้คนที่อยู่ในเมืองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคำตอบในการพัฒนาจะอยู่ที่เมืองและหมู่บ้านเป็นสำคัญ และการที่จะทำเรื่องเมืองได้ จะต้องศึกษาความเป็นมาของเรื่องเมือง การที่จะบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศชนบทหรือประเทศเมืองนั้นเป็นเรื่องที่พูดยากมาก สิ่งที่อยากจะแนะนำต่อมา คือเราต้องสนใจเรื่องวิวัฒนาการของเมืองแบบไทยเรา การสร้างเมืองที่สำคัญที่สุดจะต้องสร้างจากความเข้าใจของเรา อย่าทำแต่เรื่องบริหารเพราะเป็นเรื่องที่ทำง่ายแต่จะไม่ยั่งยืน ไม่หนักแน่น นอกจากนั้น แนวคิดและค่านิยมอย่างเดียวไม่พอที่จะสร้างเมืองได้ ต้องมีแนวคิดเรื่องท้องถิ่นนิยม จังหวัดนิยม เมืองนิยมด้วย จึงจะทำให้ประเทศไทยมีหลักการพัฒนาที่หลากหลาย
ความท้าทายและโอกาสของการพัฒนาเมืองในประเทศไทย มีแนวโน้มว่าจำนวนประชากรที่อยู่ในเมืองจะเพิ่มมากขึ้น ความเป็นเมืองส่งผลดีต่อการพัฒนาหลายประการทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นที่มาของการจ้างแรงงาน ตลาดรองรับสินค้า ซึ่งทำให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขาดการวางแผนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จนเป็นอาการของการเติบโตของเมืองที่ไร้ทิศทาง เกิดการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตในเมืองและเกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาการจัดการขยะ ปัญหามลภาวะ ปัญหาการใช้ที่ดินผิดประเภท ปัญหาคนจนเมือง เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) "การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ ภายใต้โปรแกรมที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ และเพื่อให้ตอบเป้าหมายและตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ และเห็นผลเชิงรูปธรรมในพื้นที่ จึงได้มีการพัฒนากรอบการวิจัยและสนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green City) การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) การพัฒนาเมืองสุขภาวะดี (Wellness City) การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) การพัฒนาเมืองนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation City) การพัฒนาข้อมูลเปิดของเมือง (Open Data) เป็นต้น
ประเด็นการวิจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและกระจายศูนย์กลางความเจริญ คือ กลไกการพัฒนาเมือง ซึ่งประกอบด้วยกลไกหลักอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 1) กลไกด้านการพัฒนาความร่วมมือทางสังคมของเมือง เช่น กิจการพัฒนาเมือง กฎบัตรของเมือง 2) กลไกด้านการพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้ของเมือง เช่น ระบบฐานข้อมูลเปิดสาธารณะ ระบบกระดานข่าวสารเมือง 3) กลไกการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและการจัดการทุนของเมือง เช่น เครื่องมือระดมทุนระดับเมือง กองทรัพย์สินเมือง พันธบัตรเพื่อพัฒนาเมือง และ 4) กลไกด้านนโยบายและแผนพัฒนาของเมือง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง การจัดทำแผนพัฒนาเมืองภาคประชาชน เป็นต้น ที่จะผลักดันไปสู่ยุทธศาสตร์หลักเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเดินทางในเมือง และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองสู่ศูนย์เศรษฐกิจ โดย 4 กลไก 3 ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมืองดังกล่าวนี้ เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดเมืองที่ฉลาด ที่จะนำไปสู่การพัฒนาบริการสาธารณะของเมืองหรือการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสของเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุน การสร้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.