(25 เมษายน 2565) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย และ อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว "การพัฒนาศักยภาพคุณภาพด้านการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ กับการจัดอับดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) และ QS Rankings by Subject" ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนามหาวิทยาลัย อย่างก้าวกระโดดและตอบโจทย์ประเทศด้วยการแบ่งกลุ่มตามความถนัดและศักยภาพของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้นและส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกที่ดีขึ้น ตามสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ หรือ Ranking by Subjects ซึ่งจะสะท้อนคุณภาพของงานวิจัย การเรียนการสอน ความเป็นนานาชาติรวมถึงการบริการวิชาการและการ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในสาขาต่างๆ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนโยธี)
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จอันน่าชื่นชมกับการเข้าสู่อันดับ TOP 50 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในสาขา Performing Arts เป็นหัวหอกในการนำการศึกษา ของประเทศให้พัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและจะเป็นส่วนในการช่วยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ให้เข้าไปสู่การเป็น TOP 50 หรืออย่างน้อย TOP 100 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในอนาคต สำหรับการได้รับอันดับที่ 47 ในครั้งนี้เกิดมาจากความสำเร็จที่ผ่านมา โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject 2021 ในอันดับ TOP 100 และต้องขอชื่นชมที่ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อย่างงดงาม ภายในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เปรียบเสมือนการ Taking a Giant Step ของการศึกษาด้าน Performing Arts ของประเทศไทยเพราะการเข้าสู่อันดับ TOP 50 มีความยากมาก เนื่องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นสถาบันดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งต้องแข่งกับหลาย ๆ สถาบันที่มีความหลากหลาย ด้าน Performing Arts เพราะหลายมหาวิทยาลัยมีหลายสาขาวิชาในด้าน Performing Arts เช่น ละคร นาฎศิลป์ และศิลปะในด้านอื่น ๆ แต่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีความเฉพาะเจาะจง โดยเป็นวิทยาลัยดนตรีเพียงอย่างเดียวทำให้การเพิ่มคะแนนต้องทำด้วยความยากลำบากและต้องมีการวางแผน ในการจัดการอย่างเป็นระบบ การที่จะทำให้สถาบันในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับ TOP 50 ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามอันดับ TOP 50 มีเพียงแค่ 50 อันดับ จากสถาบันด้านศิลปะนับหมื่นแห่งทั่วโลก การที่มีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ เปรียบเสมือน การสร้างต้นน้ำที่ดี และมั่นคงเป็นฐานในการต่อยอดของ การสร้าง soft power และ creative economy ของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน
ศ.นพ.บรรจง อธิการบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ม.มหิดลกำหนดเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ จะต้องพัฒนาคุณภาพของผลงานในทุกด้าน ทั้งงานวิจัย การเรียนการสอน สภาพแวดล้อม การบริหารจัดการ และการดูแลบุคลากรและนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่า ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทุกมหาวิทยาลัยต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก ในขณะที่ งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มีทิศทางและมุ่งประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในหลายๆ โครงการ ในฐานะที่เป็นปัญญาของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์แก่สังคมและมวลมนุษยชาติในวงกว้าง เมื่อ อว. ได้ประกาศเดินหน้าโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย (Reinventing University) ให้ทัดเทียมระดับสากลนั้น สิ่งสำคัญที่ ม.มหิดลในฐานะ สถาบันอุดมศึกษาระดับแนวหน้าของไทย ได้สนองรับนโยบายดังกล่าวด้วยการวางยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมโลก นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนา "soft Power" ของประเทศไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้าน "Performing Arts" อย่างเข้าใจและจริงจัง ทำให้การพัฒนาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าสาขาดนตรีจะมีความแตกต่างจากสาขาวิชาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย แต่อย่างที่ทุกคนทราบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในแต่ละ กระดานมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เราต้องเข้าใจกติกา และพิจารณาถึงปัจจัยที่เรามีอยู่ก่อน จึงจะสามารถเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ ซึ่งมหาวิทาลัยมหิดล ต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติให้กับทุกสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญการที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject 2022 ในสาขา Performing Arts ครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นในคุณภาพ ทั้งในด้านของหลักสูตร คณาจารย์ นักศึกษา การวิจัย มีผลงานลิขสิทธิ์จำนวนมาก และการเป็นสถาบันการศึกษาที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจและเป็นก้าวแห่งการพัฒนาที่สำคัญของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงถึงศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันกับนานาชาติ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงของไทยออกสู่ตลาดโลก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้รูปแบบใหม่ๆให้กับประเทศในอนาคต
ด้าน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงดุริยางศ์ฟิลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยในเวลานี้ เพราะประเทศที่มีความเข้มแข็งจะสามารถผ่านอุปสรรคและปัญหาไปได้อย่างยั่งยืน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญเมื่อปีที่ผ่านมาด้วยการได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ TOP 100 ของ QS World University Rankings by Subject 2021 ด้านสาขา Performing Arts เป็นที่แรกในประเทศไทย และยังได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วแม้อยู่ใน สถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 แสดงให้เห็นศักยภาพขององค์กรในเรื่อง Agile และ Resilience เป็นอย่างมาก การพัฒนาทางด้านศิลปะและการแสดงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และรายได้เข้าสู่ประเทศในรูปแบบใหม่ หลายคนพูดถึง Soft Power ในขณะนี้ แต่อยากให้เข้าใจว่า Soft Power จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เป็น Positive Branding ให้กับประเทศ และที่สำคัญคือต้องมีส่วนของการสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ ต้องมี Economic Impact ให้กับประเทศ ถ้าไม่ได้สร้าง Branding ที่ตีให้กับประเทศก็ยังไม่สามารถเรียกว่า Soft Power ได้ เราเองก็สร้างเรื่อง Soft Power ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เหตุผลหลักที่เราสนับสนุนการดำเนินงานของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาโดยตลอด เพราะมีความเชื่อมั่นในองค์กร และเห็นประโยชน์กับการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้ง ยังสร้างประโยชน์และสร้างโอกาสให้กับชุมชน และสังคมในวงกว้าง อีกด้วย ในฐานะประธานวงดุริยางค์ฟิลฮาประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) ซึ่งเป็นวงที่ประจำอยู่ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งพิสูจน์ได้จากกิจกรรมในการแสดงที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในระดับนานาชาติ การเป็น 1 ในวง Highlight ของเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งของประเทศและสร้าง Soft Power อย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะได้มีโอกาสในการสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติของวงออเคสตร้าที่ได้รับเชิญไปแสดงในเทศกาลที่สำคัญนี้ เพื่อต่อยอด Soft Power ให้กับประเทศไทย และการไปครั้งนี้จะสร้างคะแนน Employer Reputation ให้กับการทำ Ranking ในอนาคตอย่างแน่นอน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.