สกสว.เปิดเวทีระดมสมองบอร์ด 3 คณะ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระตุ้นจุดคานงัดของประเทศ ด้าน รมว.อว.ชี้ต้องเร่งปฏิรูประบบ ววน. ให้เร็ว มาก และประหยัด พร้อมเสนอจัดตั้ว ‘ธัชภูมิ’ เพื่อสร้างความรู้เชิงพื้นที่
(17 มิถุนายน 2565) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ร่วมให้ความเห็นเรื่องการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามเป้าหมายในช่วงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาระบบ ววน. ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อการทำงานของทุกภาคส่วนให้เป็นเนื้อเดียวกัน รวมถึงเป็นข้อมูลในการยกร่างแผนพัฒนา ระบบ ววน. ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดจุดคานงัดในระบบ ววน. ของประเทศ
ประเด็นในการระดมสมองครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) การประสานความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็ง (กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม และภาคส่วนอื่น การเชื่อมระบบงาน การพัฒนาระบบตัวชี้วัดร่วม การเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบ ววน.) 2) การบริหารจัดการทรัพยากร (กลไกการเชื่อมโยงระหว่างการจัดทำแผน การจัดสรรงบประมาณ) 3) ระบบสำคัญที่เกี่ยวข้อง การประสานความร่วมมือและความเข้มแข็ง (ระบบทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์ข้อมูลระบบ ววน. เพื่อพัฒนานโยบาย และสู่ระดับปฏิบัติการ และการเชื่อมต่อการติดตามประเมินผลแบบครบวงจร) และ 4) การบริหารจัดการและพัฒนากำลังคน (ระบบบริหารกำลังคน ววน. ของประเทศ)
ในโอกาสนี้ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าการปฏิรูประบบ ววน. ต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก และทำแบบประหยัด ทำดีแต่ทำช้า เหมือนไม่ได้ทำ ทำดีแล้วฟุ่มเฟือยมากจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมได้ ทั้งนี้นอกจากธัชชาที่ดูแลงานวิจัยมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ธัชวิทย์ที่ดูแลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีแล้ว ยังอยากให้มี “ธัชภูมิ” อันเป็นความรู้เชิงพื้นที่ ทำหน้าที่วิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับเชิงพื้นที่ แต่ไม่ได้ตัดขาดจากศาสตร์และศิลป์
ด้านศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเสริมว่าว่า การปฏิรูปอุดมศึกษามีสัญญาณการขับเคลื่อนชัดเจน ออกดอกออกผลพอสมควรแล้ว จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้าน ววน. เพื่อให้ประชาชนยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่พอจะปรับได้ คำถามคือเราจะมีความสุขกับงบประมาณที่มีเรามีอยู่ 15% หรือทั้งหมดของประเทศ 100% เราควรจะต้องไปช่วยดึงงบ 85% จากเอกชน ทำหน้าที่เป็นกลไกชักจูงเรือลำใหญ่ให้วิ่งไปในทิศที่ประเทศต้องการ โดยหาร่องน้ำใหม่และขุดคลองลัดให้เรือลำใหญ่วิ่ง
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สิ่งที่ถูกถามทุกครั้งคือ ประชาชนได้อะไร ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นบทบาทหน้าที่ของ ววน. ที่จะต้องตอบคำถามให้ได้ ความคาดหวังแรกจึงต้องส่งมอบผลงานได้ และนักวิจัยได้มองเห็นร่วมกันในเชิงเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย ววน.หรือไม่ ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยบริหารจัดการทุนและนักวิจัยเพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้ประชาชน เอกชน หน่วยงานพัฒนา และนิติบัญญัติจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบ ววน.อย่างไร เป็นเรื่องที่ท้าทาย”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.