เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ครั้งที่ 2/2565 พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ,ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ผู้บริหารกระทรวง อว. และคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้ร่วมกันพิจารณา 5 โครงการหลัก ได้แก่
1. โครงการเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ให้เกิดเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อการให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยเทคโนโลยีจีโนม นำร่องด้วยโครงการศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำโรคมะเร็งและโรควินิจฉัยยาก เพื่อเป็นรากฐานของ Medical Hub เกี่ยวกับการแพทย์แม่นยำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประเทศไทยต่อไป
2. โครงการเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient, API) เป็นโครงการที่ผลักดันให้เกิดการสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบทางยา โดยเน้นการผลิตกลุ่มยา API เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาในสถานการณ์การระบาดสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขไทย และเป็นรากฐานการสร้างให้อุตสาหกรรม API ของประเทศมีความเข้มแข็ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านการผลิตยา เพื่อวิจัยการสังเคราะห์ API ด้วยกระบวนการใหม่ เพิ่มผลผลิต ลดการสูญเสีย ลดต้นทุน รวมถึงการลดของเสีย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดเพื่อพัฒนายานวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต
3. โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลิต Autogenous vaccine ภายในประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิต Autogenous vaccine ที่ได้มาตรฐานสำหรับใช้ในการป้องกันการเกิดโรคระบาดแก่สัตว์ในฟาร์มเลี้ยง รวมทั้งเป็นต้นแบบขยายผล สู่การดำเนินการ ในรูปธุรกิจจากการที่เอกชนได้เห็นความสามารถของวัคซีนที่พัฒนาขึ้นในประเทศ จูงใจให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนในการจัดสร้างโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ในอนาคต
4. โครงการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการภาคเกษตรกร ‘เนคเทค สวทช.’ เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม THAGRI ให้มีความสามารถในการเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Sharing) โครงการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ฯ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องด้านการเกษตรเปิดเผยข้อมูลบน THAGRI เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมสร้างมาตรฐานข้อมูล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ
5. การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตปิโตรเคมิคอลจากเอทานอล มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันการผลิตชีวมวลในประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยการนำประเทศไทยปรับตัวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การผลิตและเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้ง 5 โครงการในข้างต้นยึดหลัก BCG Model ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยโดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.