ปลูกต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ประเทศ 4 หน่วยงานจับมือ ดึง นร.-นศ. กยศ.กว่า 7 แสนคนแสดงพลังปลูกต้นไม้ 1 ต้น นับเป็นจิตสาธารณะได้ 2 ชม. “เอนก” ลั่น “นี่คือการคืนธรรมชาติให้กับสังคมไทย” ขณะที่ ทส.เตรียมกล้าไม้ 61 ล้านกล้าพร้อมสนับสนุน ด้านปลัด อว.ชี้เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนรักในทรัพยากรธรรมชาติ
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี” ระหว่าง อว. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการ ศธ. และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ร่วมลงนาม ที่อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว. ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี จะทำให้เยาวชนมีความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าไม้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องทำให้ใหญ่ ทำให้เร็ว และทำให้ครึกโครม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และจะเริ่มต้นปลูกกันในมหาวิทยาลัย เพราะว่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยของไทยถือว่าใหญ่และมีพื้นที่มาก เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีมากกว่า 7,000 ไร่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีหลายพันไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หากรวมทุกวิทยาเขตก็มีเป็นหมื่นไร่ เป็นต้น เมื่อปลูกแล้วก็สามารถเอาต้นไม้ที่ปลูกไปซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย โดยร่วมมือกับ ทส.
“กยศ. มีนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน ประมาณ 7 แสนคน ถ้าปลูกคนละต้นก็ได้ 7 แสนต้น ถือเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และนี่คือการคืนธรรมชาติให้กับสังคมไทย” รมว.อว. กล่าว
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า โครงการต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี เป็นโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมและปลูกฝังให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตได้เกิดการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง อว.พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกด้าน
ด้านนายจตุพร กล่าวว่า ทส.ปลูกป่าตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 55% ภายในปี 2580 แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเมือง 5% โดยกรมป่าไม้ได้เตรียมกล้าไม้ไว้ในขณะนี้ 61 ล้านกล้า เป็นกล้าไม้ที่มีความสูง 70 ซม. ซึ่งถ้านำไปปลูกจะมีโอกาสรอดเกิน 80% เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีกล้าไม้เพียงพอ ผู้กู้ยืมเงิน กยศ.มีประมาณ 7 แสนคน ขอแค่ครึ่งเดียวคือ 3.5 แสนคนมาร่วมกันปลูกก็จะได้พื้นที่ป่าให้กับประเทศมากขึ้น และจะส่งผลกระทบไปหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทส.พร้อมสนับสนุนโครงการนี้ ถ้าพื้นที่ปลูกป่าของ อว. ไม่เพียงพอ มาใช้ในพื้นที่ของ ทส.ได้เลย
ขณะที่ นายชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนได้กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปีทุกระดับการศึกษา ต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะ 36 ชม. ต่อปีการศึกษา โครงการต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี จึงเป็นโครงการที่กองทุนดำเนินการ เพื่อเชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาผู้กู้ยืม กยศ.และสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะนับเป็นจิตสาธารณะของผู้กู้ยืม โดยการปลูกต้นไม้ 1 ต้น สามารถนำมานับเป็นจิตสาธารณะได้ 2 ชม.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.