“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกฯ เปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565” ชี้ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ ด้าน “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. ย้ำ มหกรรมวิทย์ฯ ปีนี้ เน้นนำเสนอวิทย์ผสานศิลป์ ในมุมของการขับเคลื่อนพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” สอดรับกับนโยบาย “BCG Model” ของรัฐบาล
(14 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565” ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทว มหามกุฎวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งในหลายมุมโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ทางพลังงาน และทางสาธารณสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โลกใบนี้ต้องการความสมานฉันท์ ความร่วมมือ และสันติสุข เพื่อให้เรามีเวลาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถใช้มันสมอง สองมือ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองลดผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้จึงทำให้เราตระหนักชัดเจนถึงผลเสียที่เกิดจากการพัฒนาที่เน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกำไรใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินความพอดี ทำให้เกิดความไร้สมดุลของทุกสิ่ง โดยเฉพาะความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในการพัฒนาประเทศเราจำเป็นที่จะต้องเน้นการเสริมสร้างทัศนคติ ปรับเปลี่ยนชุดความคิดของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ชุมชน และเยาวชน ให้ตระหนักถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปีนี้ นับเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ในโอกาสนี้ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศที่รวมพลังในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมไทย อันจะก่อให้เกิดสังคมวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยของเราเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป และขอแสดงความยินดีกับเยาวชน และครูวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award 2022 ซึ่งถือเป็นรางวัลที่แสดงถึงผลงานชั้นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนอื่นๆ ให้มุ่งมั่น พัฒนาฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 กำหนดจัดขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดขึ้น ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 และงาน NST Fair Science Carnival Bangkok ในรูปแบบ Science Carnival จัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565 เพื่อให้เข้าถึงและครอบคลุมเยาวชนและประชาชนที่สนใจเป็นวงกว้าง โดยมีแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์มาสู่เมือง เพื่อเป็นการกระจายความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มคนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือทำให้คนไทยให้หันมาสนใจ ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และจับต้องได้ โดยเน้นนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อนพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ สอดรับกับนโยบาย “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมผนึกกำลังความยิ่งใหญ่กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและประชาชนไทย มากถึง 136 หน่วยงาน จาก 10 ประเทศ
พบกับ 5 นิทรรศการไฮไลต์ที่ห้ามพลาด ได้แก่ นิทรรศการเทิดเกียรติ (The Royal Pavilion) นำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ชมวิทยาการและพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์อันน่าทึ่งในรัชสมัยต่างๆ นิทรรศการแก้วเปลี่ยนโลก (Through the Looking Glass) บอกเล่าเรื่อง “แก้ว” ในทุกมิติทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ร่วมสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของแก้ว ซึ่งเป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน นิทรรศการลอดช่อง ส่องถ้ำ (Cave and Karst) ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก เปิดบันทึกการสำรวจถ้ำครั้งแรกในสยามเสมือนว่าได้เข้าไปสำรวจด้วยตนเอง รวมทั้งพบกับดาวเด่นถ้ำไทย สัตว์ถ้ำที่น้อยคนจะได้เห็น นิทรรศการวิทย์ คิด เพื่อ คุณ (Basic Science for All) ชวนทุกคนเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นฐานธรรมชาติเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่ต่อยอดสู่นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และนิทรรศการนวัตกรรมวันรุ่ง (Tomorrow Land) สนุกสนานไปกับการสร้างโลกแห่งอนาคตในแบบฉบับของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Science Lab) ที่ให้เด็ก ๆ สวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อย กิจกรรมงานประชุมสัมมนา อบรม และเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ และกิจกรรมเวทีกลาง อีกมากมาย
รมว.อว. กล่าวต่อว่า “ตลอดระยะเวลาการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 16 ปี ที่ผ่านมา มีผู้เข้าเที่ยวชมงานมากกว่า 15 ล้านคน โดยมุ่งหวังว่าเด็ก เยาวชนไทย ตลอดจนสังคมไทยจะยกระดับความรู้ และได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป”
สรุปผู้ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award 2022
รางวัลครูวิทยาศาสตร์ผู้ส่งเสริมเยาวชน
1. รางวัล Prime Minister’s Science Teacher Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
นายธาราดล สิงห์สูงเนิน
โรงเรียนสารวิทยา
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
แนวคิดในการทำงาน: ทุกคนในห้องเรียนนี้เป็นต้นไม้ที่พร้อมจะแตกยอดและเบ่งบานได้เสมอ
ขอเพียงแค่ใช้...เวลาและหัวใจเฝ้ามองปรากฏการณ์นั้น
2. รางวัล Prime Minister’s Science Teacher Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
นายสาโรจน์ บุญเส็ง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
จังหวัดนครปฐม
แนวคิดในการทำงาน: ทำทุกสิ่งโดยใช้ความรักเป็นแรงขับ แล้วผลลัพธ์จะมีทั้งความสำเร็จและความสุข
นางสาวพิชญ์สินี คงสุคนธ์
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี
แนวคิดในการทำงาน: ทุกความสำเร็จ ...
ต้องเริ่มมาจากการ "ลงมือทำ" "
รางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชน
1. Prime Mister’s Science Project Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และรางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดย กลุ่ม บริษัท ดาว ประเทศไทย
ชื่อโครงงาน: ผลของวัสดุครอบต่อพฤติกรรมการสร้างท่อเข้ารัง ของชันโรงดิน (Tetragonilla collina) เพื่อการประยุกต์ใช้และการอนุรักษ์
Increasing propolis production of stingless bee (Tetragonilla collina) for promoting species conservation and sustainable utilization
เยาวชน: นายวิษณุชัย หัตถกอง นายธนกร สาคุณ นายณัฐชพน วงศาโรจน์
ครูที่ปรึกษาหลัก: นายสุธิพงษ์ ใจแก้ว
ที่ปรึกษาพิเศษ: นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร
โรงเรียนดํารงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
ข้อมูลโครงงาน
ชันโรงดิน (Tetragonilla collina) เป็นผึ้งจิ๋วที่มีเอกลักษณ์ในการดำรงชีวิตคือการสร้างปากทางเข้า รังเป็นท่อกลมยาวจากยางไม้หรือยางชันที่มีสมบัติเป็นพรอพอลิส และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย แต่เนื่องจากชันโรงชนิดนี้ทำรังและอาศัยอยู่ในโพรงใต้ดิน จึงทำให้การใช้ประโยชน์อยู่ในรูปแบบการทำลายรังและอาจทำให้สูญพันธุ์ได้ การศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของวัสดุที่นำมาใช้ครอบปากทางเข้ารังของชันโรงต่อการกระตุ้นการสร้างท่อเข้ารังของชันโรง ศึกษาและเปรียบเทียบ สมบัติของยางชัน โดยใช้กระถางพลาสติกโปร่งแสง กระถางพลาสติกทึบแสง และกระถางดินเผา เป็นวัสดุครอบ โดยเปรียบเทียบความสูงของวัสดุครอบ 10, 20 และ 30 เซนติเมตร และขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางปากทางเข้ารัง 2, 3 และ 4 เซนติเมตร พบว่า กระถางดินเผาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ความสูง ของกระถาง 20 เซนติเมตร มีความเหมาะสมที่สุดในการปกป้องชันโรงและให้ปริมาณพรอพอลิสมากที่สุด ซึ่งสามารถกระตุ้นการสร้างท่อเข้ารังได้สูงขึ้นเป็น 3.93 เท่า เมื่อเทียบกับชุดควบคุม ทั้งนี้พรอพอลิสที่ได้มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราเขียว(Penicillium sp.) มากกว่าท่อเข้ารังธรรมชาติและชันโรงพันธุ์ขนเงิน(Tetragonula pegdeni) 1.28 และ 1.04 เท่าตามลาดับ ผลตอบแทนของการกระตุ้นการสร้างท่อเข้ารังของชันโรงในครั้งนี้ส่งผลต่อรายได้ในชุมชนให้เพิ่มสูงขึ้น และยังสามารถนำพรอพอลิสที่ได้ ไปใช้เป็นสารเคลือบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวของผลิตภัณฑ์ในชุมชนได้ด้วย ซึ่งจะเป็นแนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากชันโรงดินอย่างยั่งยืน
2. Prime Mister’s Science Project Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ชื่อโครงงาน: การเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง
เยาวชน:
1. นางสาวมาริสา อรรจนานนท์
2. นางสาวจรัสณัฐ วงษ์กำปั่น
ครูที่ปรึกษาหลัก: นายขุนทอง คล้ายทอง
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ข้อมูลโครงงาน
จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนประชากรโลกส่งผลให้ทรัพยากรอาหารที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้แมลงเป็นอีกแหล่งอาหารทางเลือกของมวลมนุษยชาติ หนึ่งในนั้นคือ จิ้งหรีด ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ใช้ทรัพยากรและต้นทุนในการเลี้ยงน้อยกว่าปศุสัตว์ชนิดอื่นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทองแดงมักประสบปัญหาการสลัดขาทิ้งของจิ้งหรีด ส่งผลให้เกษตรกรจำเป็นต้องคัดจิ้งหรีดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งเนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยที่ไม่จำเป็น โดยสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองต่อพฤติกรรมการกินกันเองของจิ้งหรีดที่ส่งผลให้จิ้งหรีดที่อ่อนแอกว่าจำเป็นต้องสลัดขาทิ้งเพื่อเอาตัวรอด นอกจากนี้ความยาวคลื่นแสงยังส่งผลต่อพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวของแมลงซึ่งอาจนำมาควบคุมพฤติกรรมบางประการของจิ้งหรีดได้ งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาผลของแสงสีต่อการลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้งโดยศึกษาภายใต้แสงสี แดง, น้ำเงิน, เขียว และชุดควบคุม (แสงอาทิตย์) โดยทำการเลี้ยงจิ้งหรีดภายในกล่องพลาสติกขนาด 21.5 x 31 x 19.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร และใช้หลอดไฟ LED ในการให้แสงแก่จิ้งหรีด (12L:12D light/ dark cycle)โดยมีการใช้ฉากกั้นแสงเพื่อกั้นแสงในแต่ละชุดการทดลอง เลี้ยงในกล่องพลาสติกขนาด พบว่าการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดภายใต้แสงสีเขียวมีประสิทธิภาพในการลดพฤติกรรมการสลัดขาของจิ้งหรีดได้ดีที่สุด และในการเลี้ยงจิ้งหรีดภายใต้แสงสีอื่นไม่มีความแตกต่างกันทางนัยสำคัญทางสถิติ
3. Prime Mister’s Science Project Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
ชื่อโครงงาน: Microneedles for creatinine detection: Novel prototype of non-invasive portable tool towards chronic kidney disease assessment
การพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินในของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา
เยาวชน:
1. นายธนพัฒน์ รีชีวะ
2. นายพีรทัตต์ ลาภณรงค์ชัย
ครูที่ปรึกษาหลัก: นายเกียรติภูมิ รอดพันธ์
ที่ปรึกษาพิเศษ: นายธิติกร บุญคุ้ม
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ข้อมูลโครงงาน
โรคไตเรื้อรัง เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่เกิดจากการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานของไต และโดยทั่วไปนั้นผู้ป่วยโรคไตมักจะไม่ทราบว่าตนเองมีไตที่เสื่อม การตรวจวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังได้ในระยะเริ่มต้นจึงมีความจำเป็นที่จะสามารถช่วยผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเพื่อชะลอการเสื่อมลงของไตและช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ครีเอตินีนสามารถใช้เป็นสารบ่งชี้โรคไตเรื้อรังได้ โดยครีเอตินีนสามารถพบได้ทั้งในเลือดและของเหลวระหว่างเซลล์ นอกจากนี้ปริมาณครีเอตินีนในของเหลวระหว่างเซลล์ยังมีค่าที่สัมพันธ์กับปริมาณครีเอตินีนในเลือดอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเซนเซอร์ทางไฟฟ้าเคมีเพื่อการตรวจวัดปริมาณครีเอตินีนในของเหลวระหว่างเซลล์ขึ้นจากเข็มขนาดไมโครเมตรในโครงงานนี้ กระบวนการของการพัฒนาโครงงานจะเริ่มจากการใช้ polymethacrylate สังเคราะห์เข็มขนาดไมโครเมตร จากนั้นจะทำการเคลือบผิวของเข็มด้วยชั้นทองคำบางเพื่อให้เข็มสามารถตอบสนองต่อไฟฟ้าได้ จากนั้นจะทำการเคลือบด้วยโพลิเมออีกชั้นหนึ่งตามหลักการของ molecular Imprinting เพื่อให้เซ็นเซอร์มีความจำเพาะเจาะจงต่อโมเลกุลครีเอตินีน โดยจะทำการใช้เทคนิคการเคลือบที่แตกต่างกัน จากนั้นจะศึกษาสมบัติทางกายภาพ และสมบัติทางไฟฟ้าเคมีของเซ็นเซอร์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการจับตัวกับครีเอตินีนของเซนเซอร์ โดยพบว่าวิธีการเคลือบเเบบ spin coating จะให้ชั้นโพลิเมอที่บางกว่า สม่ำเสมอกว่า และมีข้อบกพร่องที่น้อยกว่าเทคนิคการเคลือบเเบบ drop casting ซี่งวิธีการเคลือบที่เหมาะสม จะช่วยให้เข็มมีความเสถียร ความทนทาน และสามารถผลิตซํ้าได้ จากนั้นเซ็นเซอร์เข็มขนาดไมโครเมตรจะถูกนำไปทดสอบการตอบสนองต่อครีเอตินีนโดยใช้เทคนิค cyclic voltrammetry ซึ่งจากผลการทดสอบพบว่าเซ็นเซอร์มีการตอบสนองต่อความเข้มข้นครีเอตินีนตั้งแต่ 0-90 mM จากผลการทดลองวิจัยทั้งหมดจึงสามารถยืนยันได้ว่าเซนเซอร์เข็มขนาดไมโครเมตรที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้เป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาต่อยอดไปเป็นชุดตรวจโรคไตเรื้อรังในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินภาวะสุขภาพของประชากรทุกคน
4. Prime Mister’s Science Project Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
และ รางวัล NSM President’s Science Communication Award โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ชื่อโครงงาน: เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเอง จากเสียงเสต็ทโตสโคปด้วยอัลกอริทึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม
Cardiac Self-Monitoring Tool from Stethoscope Sound with AI Neural Network Algorithm
เยาวชน:
1. นายธนภัทร จรัญวรพรรณ
2. นายนพวิชญ์ ฉุนรัมย์
3. นายแมท แทนไทย คอช
ครูที่ปรึกษาหลัก: นางรุ่งกานต์ วังบุญ
ที่ปรึกษาพิเศษ: นายกฤติพงศ์ วชิรางกุล
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ข้อมูลโครงงาน
โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 และพบว่า 80 % ของคนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ กลับไม่เคยได้รับการตรวจ หัวใจมาก่อน โดยกว่าจะตัดสินใจเข้ามารับการรักษาก็เข้าสู่ระยะท้ายแล้ว ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงมากอีกทั้งโรงพยาบาลศูนย์ และแพทย์ด้านหัวใจก็มีจำนวนจํากัด อีกทั้งการตรวจในแต่ละครั้งมีราคาสูง ทำให้เข้าถึงได้ยากแม้ว่าแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ จะออกมาแนะนําให้ตรวจหัวใจเบื้องต้นสม่ำเสมอเป็นประจำ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์เราสามารถตรวจหัวใจ ในเบื้องต้นเองได้ ทางทีมผู้พัฒนาจึงมีแรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถทำการตรวจหัวใจเบื้องต้นได้ ช่วย ลดโอกาสการเสียชีวิตให้มากที่สุด ทีมผู้พัฒนาจึงสร้างโครงงานนวัตกรรมทางการแพทย์ในชื่อ “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจ ด้วยตนเอง จากเสียงสเต็ทโตสโคปด้วยอัลกอริทึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม” เพื่อสามารถตรวจหัวใจเบื้องต้นใน ภาวะหัวใจผิดปกติที่มีเสียง Murmur และ AF จากเสียงการเต้นของหัวใจด้วยตนเองอย่างง่าย ผ่านเครื่องมือสเต็ทโตสโคปด้วยแอปพลิเคชัน โดยขั้นตอนการดําเนินงาน ดังนี้ 1.สํารวจ ปัญหาและศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ลงพื้นที่เชิงลึก สัมภาษณ์แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและผู้ป่วยโรคหัวใจที่ศูนย์โรคหัวใจ ภาคเหนือและแผนกกุมารเวชศาสตร์คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2.ออกแบบเครื่องมือ CS-M ให้กับทางทีมแพทย์ที่ปรึกษาของโครงงานนี้พิจารณา 3. สร้างเครื่องมือต้นแบบ CS-M จากนั้นทำการทดลองกับหุ่นจําลองเสียงหัวใจที่แผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ความถูกต้องของเครื่องมือ แล้วสรุปผล และพัฒนาปรับปรุง ประสิทธิภาพเครื่องมือ CS-M เพิ่มเติม 4.นําเครื่องมือ CS-M ที่ได้พัฒนาปรับปรุงไปทดลองกับมนุษย์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากการทดสอบเครื่องมือร่วมกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับกลุ่มเด็กหัวใจพิการแต่กำเนิด 9 คน และกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจ 6 คน สามารถตรวจได้ถูกต้องทั้งหมด และได้ยื่นจดลิขสิทธิ์และอนุสิทธิบัตร ยื่นจดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์อย่างเป็นทางการร่วมกับทีมนักวิจัย จากศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ Med CMUHealth Innovation Center (MedCHIC) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะช่วยแก้ไขปัญหาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจขาดแคลน ด้วยการช่วยแพทย์ในการคัดกรองและจัดลำดับการรักษาผู้ป่วยผ่านการใช้งานแบบ การแพทย์ระยะไกล (Telemedicine)
ข้อมูลผู้ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award 2022
รางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ชื่อโครงงาน: การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล
เยาวชน:
1. นายจิรพนธ์ เส็งหนองแบน
2. นายฐิติพงศ์ หลานเดช
ครูที่ปรึกษาหลัก: นายขุนทอง คล้ายทอง
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ข้อมูลโครงงาน
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงาน อาหาร อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ โดยปัญหาที่ยังพบคือ พื้นที่บริเวณป่าชายเลนด้านในซึ่งมีอายุมากกว่าเกิดล้มตายไปตามกาลเวลาทำให้พื้นที่ป่าชายเลนด้านในมีปริมาณลดลง ซึ่งการเข้าไปปลูกป่าเพื่อเป็นการซ่อมแซมนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นวัสดุปลูกลอยน้ำจากยางฟองน้ำร่วมกับชานอ้อยและกากถั่วเหลือง และใช้พื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ศึกษา โดยเริ่มจากการศึกษาผลของรูปทรงและพบว่าลักษณะรูปทรงในลักษณะของผลจิกทะเลมีรูปทรงที่เหมาะสมกว่าทรงกลม ทรงกระบอกและทรงกรวย และอัตราส่วนของชานอ้อยและกากถั่วเหลือง 1:1 เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมในการเติมลงในวัสดุปลูก อีกทั้งยังพบว่ามีลักษณะของรูพรุนภายในที่มากกว่า 40% จากการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 90 วัน พบว่าต้นแสมขาวเมื่อใช้วัสดุปลูกลอยน้ำ มีความสูง 41.7 ซม. และจำนวนใบทั้งหมด 18 ใบ การย่อยสลายเมื่อฝังดินที่ 27% และเมื่อสัมผัสกับน้ำทะเลเพียงอย่างเดียวมีการย่อยสลายที่ 18 %, ปริมาณออกซิเจนในน้ำที่ 2.11 mg/l,ปริมาณค่าเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าที่ 7.6 mS/cm และเมื่อศึกษาประสิทธิภาพในการซ่อมแซม พบว่ามีประสิทธิภาพในการซ่อมแซมที่ดี โดยอัตราส่วนของจำนวนวัสดุปลูกต่อจำนวนพื้นที่โล่งในป่าชายเลนจำลองที่ 1 : 1 และเมื่อทำการทดลองในสถานที่จริง จากการศึกษาความสำเร็จในการลอยเข้าป่าชายเลนของวัสดุปลูกลอยน้ำพบว่าวัสดุปลูกลอยน้ำที่ถูกปล่อยจากจุดทั้ง 5 จุดใช้เวลาเฉลี่ย 63 นาที และสามารถลอยถึงจุดสิ้นสุดได้ทั้งหมด 20 ลูก อีกทั้งยังพบว่าสามารถกระจายตัวได้ดี และเมื่อติดตามผลหลังปล่อยวัสดุปลูกลอยน้ำลอยเข้าไปเป็นระยะเวลา 90 วันพบว่าพืชทั้งหมดที่พบสามารถเจริญเติบโตได้ทั้งหมด
รางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
โดย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชื่อโครงงาน: ทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์ที่เคลือบด้วยอนุภาคนาโนแม่เหล็กสำหรับนำส่งยารักษาโรคมะเร็ง
เยาวชน: นางสาวกัญญารัตน์ พรมกอง
ครูที่ปรึกษาหลัก: นางสาวศิริพร พันธุ์ศรี
ที่ปรึกษาพิเศษ: รศ.ดร.สุทธินาถ หนูทองแก้ว
โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ข้อมูลโครงงาน
วัตถุประสงค์ของโครงงานนี้ คือ เพื่อศึกษาและสังเคราะห์ทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์สำหรับนำส่งยารักษาโรคมะเร็ง โดยใช้สนามแม่เหล็กภายนอกควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวนำส่งยานี้ ขั้นแรกได้ทำการสังเคราะห์ทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์ด้วยวิธี Anodization โดยใช้ความต่างศักย์ 60V, 5V, 60V และใช้เวลา 1 ชั่วโมง, 10 นาที, 1 ชั่วโมง ตามลำดับ แล้วนาไปเจือกับอนุภาคนาโนแม่เหล็ก และเคลือบด้วยยา Camptothecin ผลจาก FE-SEM ยืนยันว่าสามารถสังเคราะห์ทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 70-90 นาโนเมตร ยาวประมาณ 1.0-1.5 ไมโครเมตรได้สำเร็จ ผล AFM ยืนยันว่ามีอนุภาคขนาดเล็กเกาะอยู่บริเวณปากท่อเป็นจำนวนมาก ผลจาก EDX ยืนยันว่ามีอนุภาคนาโนแม่เหล็กจับบนหรือในทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์ หลังจากนั้นทำการเคลือบ Camptothecin ในทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์แล้วทดสอบการเคลื่อนที่ของตัวนำส่งยา ซึ่งผลจากภาพและวิดิโอจากกล้องจุลทรรศน์ พบว่าสามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของตัวนาส่งยาได้โดยใช้สนามแม่เหล็กภายนอกและผลจาก UV-vis พบว่าสามารถควบคุมการปลดปล่อย Camptothecin ซึ่งเป็นยาที่ไม่ชอบน้ำ ออกจาก ทรงกระบอกนาโนไทเทเนียร์สู่กระแสเลือดหรือสารละลายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบได้อย่างรวดเร็วผ่านการใช้สนามแม่เหล็กภายนอกเขย่าตัวนำส่งยา โครงงานนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นตัวนำส่งยาหรือสารชีวโมเลกุลอื่นที่ต้องการให้ยาหรือสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาถูกปลดปล่อยออกสู่บริเวณเป้าหมายเท่านั้นได้ผ่านการใช้สนามแม่เหล็กภายนอกควบคุม
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook: NSTFair Thailand (www.facebook.com/nstfairTH)
ข้อมูลโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ถ่ายวีดิโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.