เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ดร.อรสา ภาววิมล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะทำงาน พี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบหลักสูตร ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ณ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ส่งนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ จำนวน 5 คน ไปปฏิบัติงานในส่วนงานฝ่ายสินค้าคงคลัง ฝ่าย Product Module และฝ่ายจัดซื้อ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565
นายอรรถพล รังผึ้ง ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท อมิตา เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้นิเทศงานของบริษัทฯ ได้ให้การต้อนรับคณะทำงานและผู้ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฯ พร้อมนำเสนอความเป็นมาและการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์และบริษัท อมิตา เทคโนโลยี ประเทศไต้หวัน เพื่อให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการพลังงานประเทศไทย สู่ยุคสมัยแห่งอนาคตในด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า และ เรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อช่วยในการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
ดร.อรสา ภาววิมล นำทีมคณะทำงาน พี่เลี้ยงและผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ เยี่ยมชมโรงงานฯ ทั้งในส่วนของ Automation Warehouse ที่ควบคุมด้วยระบบการจัดการแบบอัตโนมัติ ตลอดจนเยี่ยมชมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ล้ำสมัย ตั้งแต่กระบวนการตั้งต้นไปจนถึงเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตและการเก็บรักษาสินค้าเพื่อเตรียมพร้อมจำหน่ายต่อไป โดยนักศึกษาที่ไปปฏิบัติงานตลอดระยะเวลามากกว่า 2 เดือน นอกจากจะได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงแล้ว ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงงานที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การจัดการพื้นที่ให้กับเครื่องจักรของโรงงานให้สามารถใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บสินค้า การลดเวลาการเตรียม-ค้นหาในระบบคลังสินค้าและการเข้าถึงข้อมูลในฝ่ายจัดซื้อ การลดความสูญเปล่าในการขนส่งและจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์ และการจัดเลย์เอาท์สำหรับการ Packing Line โดยโครงงานดังกล่าวจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ และนักศึกษาที่ดำเนินโครงงาน ซึ่งนับเป็น Win Win Win Situation ตามที่กระทรวง อว. สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายเพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการจัดเรียนการสอนในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) นอกจากนี้ ดร.อรสา ภาววิมล และคณะทำงาน ยังได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการทำความร่วมมือกับสถานประกอบการที่มีศักยภาพ ความพร้อมและมีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากำลังคนของชาติในอนาคต และสามารถสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นโครงการที่ อว. ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อสร้างโมเดลการจัดหลักสูตรตาม CWIE Platform และประกันการมีงานทำให้แก่นักศึกษาตาม EEC Model Type A เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำโมเดลฯ ไปใช้เป็นแบบอย่างในการจัดทำหลักสูตรตามแนวทาง Demand Driven Education โดยโครงการฯ ซึ่งปีนี้มีหลักสูตรที่ได้รับคัดเลือก จำนวนทั้งหมด 7 หลักสูตร จาก 7 สถาบันอุดมศึกษา โดยการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฯ ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของ อว. และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความสำคัญการจัดการศึกษาในรูปแบบ CWIE และ EEC Model Type A ให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.