เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะทำงานส่งเสริมกิจการนักศึกษาต่างชาติลงพื้นที่เยี่ยม มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด วิทยาเขตพระรามเก้า เพื่อรับฟังนโยบายการบริหารจัดการนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของการดูแลนักศึกษาต่างชาติ โดยมี ดร.อภิเทพ แซ่โค้ว รักษาการอธิการบดี ผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษาต่างชาติ เข้าร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการดูแลนักศึกษาต่างชาติ
ม.นานาชาติสแตมฟอร์ด เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ทั้งยังมีความโดดเด่นด้านการจัดการศึกษานานาชาติภายใต้โมเดล 4-I ได้แก่ International, Innovative, Industry-engaged และ Integrity ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นนานาชาติ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พร้อมพัฒนาให้นักศึกษามีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ตลอดจนเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นพลโลก
ทั้งนี้ ดร.พัชรินรุจา กล่าวว่า ความหลากหลาย (diversity) ยังถือเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของ ม.นานาชาติสแตมฟอร์ด ไม่ว่าจะเป็นการมีวิทยาเขตจำนวน 3 แห่ง ที่ตอบสนองการเข้าถึงการศึกษาของนักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค การมีบุคลากรต่างชาติในสายวิชาการและสายสนับสนุนกว่า 30 สัญชาติ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด นอกจากนี้ ม.นานาชาติสแตมฟอร์ด ยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติจากทุกภูมิภาคของโลก โดยไม่ได้จำกัดที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ม.นานาชาติสแตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติจากกว่า 138 ประเทศเข้าศึกษา
ที่ปรึกษา รมว.อว. ยังได้กล่าวชื่นชม ม.นานาชาติสแตมฟอร์ด ที่มีระบบการดูแลนักศึกษาต่างชาติอย่างครบวงจร นับตั้งแต่กระบวนการรับสมัครเข้าศึกษาจนถึงหลังจบการศึกษา โดยมีหน่วยงานจัดการภายในที่สำคัญ ได้แก่ Student Engagement และ Student Service Hub ครอบคลุมการดูแลนักศึกษาต่างชาติด้านวิชาการ ด้านการใช้ชีวิตทั้งภายในรั้วมหาวิทยาลัยและภายในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภายใต้หลักการเคารพซึ่งกันและกัน (respect) การหลอมรวม (inclusion) และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (sense of belonging) มุ่งสู่เป้าหมายของการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ จากการพบปะนักศึกษาต่างชาติ พบว่า ข้อจำกัดในเรื่องการใช้ภาษาไทย ยังถือเป็นอุปสรรคของนักศึกษาต่างชาติ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตโดยทั่วไป และในด้านวิชาการ โดยเฉพาะการสมัครเข้าฝึกงานในสถานประกอบการต่างๆ ในประเทศไทย ที่กำหนดให้นักศึกษาต่างชาติจะต้องมีทักษะและความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับดี ซึ่งในประเด็นดังกล่าว อว. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการดูแลและช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.