เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมวิชาการ "ขับเคลื่อนแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์มุ่งสู่ Thailand 4.0” เพื่อนำเสนอนโยบายและทิศทางการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "การขับเคลื่อนแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์มุ่งสู่ Thailand 4.0" โดยสังเขปว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันประเทศไทยมี Road Map ที่จะนำประเทศไปสู่อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็น Thailand 4.0 ต่อไป อีกทั้งประเทศไทยมีอาวุธทางความคิดที่สำคัญ ได้แก่ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศที่เหมาะสม มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบกับมีภาคเกษตรกรรมที่มั่นคง นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า แผนที่นำทางเทคโนโลยีฯ ดังกล่าว เป็นผลมาจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ สกสว. และคณะวิจัย อันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการภาคเอกชน ทำให้ได้มาซึ่งแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ตลอดจนมาตรการและแนวทางการกำกับดูแลแผนที่นำทางเทคโนโลยี องค์ประกอบของแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ และแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 1 1 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ,อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร,อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสองทางและความมั่นคง
รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี ผู้อำนวยการชุดโครงการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ และหัวหน้าทีมวิจัยและปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TIME Labs กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนและที่มวิจัยได้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ 1. กระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร เข้ากับเป้าหมายขององค์กร (อุตสาหกรรม หรือ ประเทศ ซึ่งเน้นการวิเคราะห์องค์ประกอบและโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์ในแต่ละช่วงระยะเวลา ประกอบกับมีขั้นตอนการประเมินทางเชิงกลยุทธ์และเลือกเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการและการวิเคราะห์จัดทำแผนที่นำทางฯ มิใช่เป็นเพียงแค่การวางแผน แต่ยังเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรและแนวการดำเนินงานในอนาคต แผนที่นำทางเป็นกระบวนการที่สนับสนุนด้านการสินใจเชิงกลยุทธ์และเป็นกระบวนการที่บูรณาการระหว่างการบริหารธุรกิจและการจัดการเทคโนโลยี ควบคู่กับส่วนที่ 2 คือ การจัดทำแผนที่นำทางฯ (Technology Roadmap) เพื่อกำหนดผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอยู่ในรูปแผนภูมิลักษณะต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ สะดวกต่อการสื่อสารภายในองค์กร และสามารถเสนอมุมมองการคาดการณ์ศักยภาพการเจริญเติบโตขององค์กรในอนาคตจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เพื่อเป็นมาตรการระยะยาวที่จะกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก แบ่งตามการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร กลุ่มสอง แบ่งตามอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 6) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสองทางและความมั่นคง ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเป็นชุดความรู้ที่สำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาในอนาคตต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.