วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ชั้น 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาคีเครือข่ายด้านนโยบาย จัดสัมมนาวิซาการ เคลื่อนภูมิภาคไทยด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ครั้งที่ 2 "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ตาน้ำของศิลปวิทยากร เชื่อมคน เชื่อมโลก" ขึ้น เพื่อเติมเต็มความรู้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของประเทศไทยที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค พร้อมร่วมทำความเข้าใจในแนวคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและธัชภูมิที่สำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่และประเทศ และการนำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการปฏิบัติการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างอนาคตของพื้นที่ภายใต้แผนงานธัชภูมิของระบบ ววน. รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการสร้างพลังของคนที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธัชภูมิ : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างอนาคตของพื้นที่”
รมว.อว. กล่าวว่า ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 24 ของโลก จาก 200 กว่าประเทศทั่วโลก ที่ 1 คือ อเมริกา 2 คือ จีน… แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าในระยะหลัง ประเทศไทยเศรษฐกิจไม่ดี แต่เราเป็นผู้มีความรู้ ต้องดูข้อมูลหลายด้าน เรามีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนเรามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 24 ของโลก ในอาเซียนก็เป็นรองจากแค่อินโดนีเซียในอันดับ 16 แต่เขามีคน 200 ล้าน มากกว่าคนไทยเรา ดังนั้น เราน่าจะทำให้ประเทศไทย ซึ่งพัฒนาจากรายได้น้อยจนเป็นรายได้ปานกลางระดับสูง เราน่าจะพัฒนาจนเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2580 คนไทยมักประเมินไทยต่ำกว่าความเป็นจริง ในขณะที่ชาวต่างชาติเห็นว่าเรามีดีมากมาย
เราเป็นมหาอำนาจทางการท่องเที่ยว เทียบเท่า ฝรั่งเศส อิตาลี ถ้านึกดูสมัยก่อน เราแทบไม่มีแหล่งท่องเที่ยว จะมีแต่เชียงใหม่ ในขณะที่ภูเก็ตยังมีแต่เหมืองแร่ อีสานก็ยังแห้งแล้ง พัทยาก็ไม่มีคนรู้จัก แต่ปัจจุบันทุกภาคทั่วประเทศมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม เราก็ได้รับจัดอันดับมีมรดกทางวัฒนธรรมอันดับ 5-6 ของโลก มากกว่าเกาหลี ญี่ปุ่น ที่คนไทยเราชอบไปเที่ยว ไปเปรียบเทียบ เราต้องภูมิใจในความเป็นไทยของเรา ต้องเปลี่ยน mindset ของคนไทย และนักวิจัย ไม่ทำงานเฉพาะความเป็นเลิศเท่านั้น แต่ให้ทำงานให้เป็นกำลังเศรษฐกิจ เป็นความภาคภูมิใจของไทย การท่องเที่ยวอยู่ในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ creative economy ซึ่งมีส่วนสำคัญใน GDP ประมาณ 20% (ภาคเกษตร มีแค่ 8% ภาคอุตสาหกรรม มีส่วน 30%) รวมกับเรื่องอื่นๆ ก็ประมาณ 30% ได้ ซึ่งพอๆ กับภาคอุตสาหกรรม แต่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มี net value มากกว่า เพราะมันอยู่ในตัวของคนไทยอยู่แล้ว ในขณะที่อุตสาหกรรมเราต้องนำเข้าวัตถุดิบ นำเข้าเครื่องจักรมูลค่าเพิ่มหรือ net value ในประเทศน้อยกว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาก
คนไทยเราเป็นคน 2 ชีพ มาตลอด ด้านหนึ่งเป็นเกษตรกร แต่ทำไปก็ไม่อาจร่ำรวยได้ เรามี productivity ต่ำไม่เหมือนในยุโรปที่มี surplus มาก เกิดพัฒนาการเป็นอุตสาหกรรม อีกด้านหนึ่ง เวลาว่างหลังเก็บเกี่ยว 8 เดือนก็มาทำศิลปะ ซ่อมวัด ทำเรื่องเล่นๆ ได้ดีมาก เรามองเกษตรกรไทย คิดว่าเป็นเกษตรกรเท่านั้น ไม่รู้ว่าเขามีดีเรื่องศิลปะด้วย เลยเติมแต่ความรู้ด้านเกษตร เราไม่ได้ใส่แว่นทางมานุษยวิทยาดูคนว่าคนไทยมีความเก่งเรื่องศิลปะสุนทรียะด้วย ต้องพัฒนาเรื่องศิลปะสุนทรียะด้วย คนไทยเราเก่ง สามารถทำได้ทั้งวิทยาศาสตร์ ทั้งสุนทรียะ ให้ทำวิทยาศาสตร์ก็ทำได้ดี ทำศิลปะก็ดี แสดงว่าเศรษฐกิจเราเดินได้ด้วย 2 ขา คือ ทั้งวิทยาศาสตร์ และ ศิลปะสุนทรียะ
เรื่องมานุษยวิทยา คนไทยให้เรียนปรัชญาอาจจะไม่อ่านหนังสือ แต่พอเล่าให้ฟังง่ายๆ ก็เข้าใจ แม้จะดูไม่เป็นวิชาการ แต่ก็เข้าใจเรื่องศาสนา เข้าใจเรื่องการปลงในชีวิต คนจนไม่อิจฉาคนรวย คิดว่าเป็นบุญวาสนา คนรวยก็ไม่รังเกียจคนจน เราต้องคิดพัฒนาและทำเรื่องมานุษยวิทยา แบบไทยๆ อย่าไปทำเลียนแบบใคร อย่าเลียนแบบฝรั่ง เพราะประเทศไทยไม่เหมือนใคร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.