เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศข่าวดีว่า ผลการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงสุดของโลก ซึ่งเพิ่งประกาศผลในวันนี้ พบว่า "ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ลันตา (LANTA) ของกระทรวง อว. โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับการประเมินว่าเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียน" โดยเป็นอันดับที่ 20 ของทวีปเอเชีย และอันดับที่ 70 ของโลก มีประสิทธิภาพในการคำนวณที่สูงถึง 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ติดอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก ซึ่งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยีที่ต้องอาศัยการคำนวณขั้นสูงของประเทศไทยให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกแล้ว
รมว.อว. กล่าวต่อว่า "รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนการปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่งมีการพัฒนาจัดระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ ส่วนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้สนับสนุนการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับนักวิจัยในระดับมาตรฐานโลก โดยในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยมีความพร้อมอย่างมาก เป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญ อยู่ในระดับโลก เรามีเครื่องซินโครตรอน กล้องดูดาวขนาดใหญ่ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ และเครื่องโทคาแมค ซึ่งแต่ละสถานีวิจัยนั้นเป็นอันดับหนึ่งหรือเครื่องเดียวในอาเซียน และล่าสุดซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของไทยก็ได้รับการจัดเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียนแล้ว"
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ลันตา หรือ LANTA เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เป็นการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง อว. ผ่านเครือข่ายซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ไทย (Thai SC) ซึ่งจัดตั้งที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. สำหรับการใช้งานของทุกหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนนักวิจัยจากทั้งภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานจากภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชนและอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการคำนวณของไทยให้อยู่ในระดับนานาชาติ ซึ่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์ลันตานี้สามารถใช้งานได้กับหัวข้อวิจัยที่สำคัญได้หลากหลาย ลดระยะเวลาการวิจัยที่ต้องคำนวณอย่างมากได้หลายร้อยเท่า เช่น การวิจัยการแพทย์แม่นยำ การวิจัยพัฒนายาชนิดใหม่ การออกแบบชุดตรวจวินิจฉัย การจำลองสภาพภูมิอากาศตามเวลาจริงโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม การคำนวณออกแบบวัสดุใหม่ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง การศึกษาการทำงานของชีวโมเลกุล และความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาของไทย และในด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างรวดเร็ว โดยนำไปใช้ประโยชน์การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการจราจร การบริหารการสาธารณสุข หรือประมวลข้อมูลการกระจายรายได้ เป็นต้น
ด้าย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า LANTA เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่น Cray EX Supercomputer ออกแบบระบบโดยทีมไทย ผลิตโดยบริษัท Hewlett Packard Enterprise (HPE) ประกอบด้วยหน่วยประมวลผล CPU AMD EPYC เจนเนอเรชั่น ที่ 3 (Milan) รวมทั้งสิ้น 31,744 cores และหน่วยประมวลผล GPU รุ่น NVIDIA A100 ที่เหมาะสมสำหรับการคำนวณด้าน AI ขั้นสูงและการจำลอง simulation ทางวิทยาศาสตร์จำนวน 704 หน่วย มีระบบจัดเก็บข้อมูลความเร็วสูงรุ่น Cray ClusterStor E1000 ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่า 10 เพตะไบต์ (petabytes) หรือ 10,000 ล้านล้านไบต์ โดยใช้การเชื่อมต่อด้วยเครือข่ายประสิทธิภาพสูง HPE Slingshot Interconnect ที่มีความเร็วในการส่งรับข้อมูล 200 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ซึ่งทำให้ LANTA มีประสิทธิภาพการประมวลผลสูงสุดในทางทฤษฎี (theoretical peak performance) อยู่ที่ 13.7 petaFLOPS และประสิทธิภาพการคำนวณสูงสุดที่วัดได้ (maximum LINPACK performance) อยู่ที่ 8.1 petaFLOPS หรือ 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที (ดูข้อมูลได้ที่ https://top500.org/system/180125/)
นอกจากนี้ LANTA เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยน้ำ (warm water cooling) ระบบแรกของประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบายความร้อนสูงกว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ในระยะยาว และเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ยุคของ Green Computing เช่นเดียวกับศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชั้นนำทั่วโลก
เผยแพร่โดย : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.