ไทย-ญี่ปุ่น จับมือเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”ครั้งที่ 22
(2022 Global Research Council - Asia Pacific Regional Meeting) โดยมีผู้นำหน่วยงานให้ทุนวิจัยระดับโลกจาก 17 ประเทศเข้าประชุม เพื่อร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางการสนับสนุนทุนวิจัยโลก
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 - ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ครั้งที่ 22 (2022 Global Research Council - Asia Pacific Regional Meeting) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.), ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), Mr.Shigeo Morimoto Vice President, Japan Science and Technology Agency (JST), Dr.Tetsuya Mizumoto Executive Director, Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) และคณะ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พ.ย. 65 ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพมหานคร
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซี่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย โดยการประชุมเรื่องการวิจัยก็นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยประกาศจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 15 ปีข้างหน้า กระทรวง อว. มุ่งสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเป็นนักวิจัย ทั้งที่เป็นนักวิจัยมืออาชีพและนักวิจัยมือสมัครเล่น โดยใช้ประโยชน์จากการวิจัยในเรื่องต่างๆ ทั้งในทางวิชาการขั้นสูงและในวิถีชีวิตประจำวัน เหมือนที่ตนเองได้ฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นการวิจัยเรื่องการทำงานให้ดี ประสบความสำเร็จ
นอกจากนั้น รมว.อว. ยังกล่าวปาฐกถาแสดงความสำคัญของความเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อสังคม โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สามารถโตได้ด้วยเศรษฐกิจสองขา ขาแรกคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีกขาคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสองขานี้จะนำพาให้ประเทศต่าง ๆ เจริญก้าวหน้าได้เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่องดินแดนสุวรรณภูมิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 2,500-3,000 ปี เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง (LiDAR) เพื่อวิเคราะห์สภาพทางกายภาพของโบราณสถานที่ถูกปกคลุม มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของไทยว่าเราอยู่ในดินแดนที่เก่าแก่มาหลายพันปี มิได้อายุเพียง 700 ปีตามที่เคยรับรู้มาจากหนังสือเรียนทั่วไป
สภาวิจัยโลกเป็นการรวมตัวของหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยจากทั่วโลกที่ริเริ่มมาจาก US National Science Foundation (NSF) เมื่อปี พ.ศ.2555 ปีนี้ถือเป็นปีแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” มีผู้นำจากหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยชั้นนำระดับโลกจาก 17 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ สาธารณรัฐเกาหลี ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น ติมอร์-เลสเต ไทย นิวซีแลนด์ บราซิล ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย อิหร่าน และอิตาลี เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเตรียมความพร้อมของหัวข้อและกรอบการประชุมสำหรับการประชุมประจำปีที่ผู้นำหน่วยงานให้ทุนจากทั่วโลกจะรวมตัวกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลางปีหน้า โดยเน้น 2 หัวข้อหลักได้แก่ 1.เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และ 2.เรื่องรางวัลและกระบวนการในการให้การยอมรับนักวิจัยที่มีบทบาทในการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ (Reward and Recognition Mechanism for Researchers)
ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาตั้งแต่ปี 2562 หรือประมาณ 3 ปีที่แล้ว โดยตอนนี้มีหน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง ซึ่ง สกสว. เป็นผู้ประสานงานในระดับประเทศ และจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงาน ประเทศไทยได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG การประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยหน่วยงานให้ทุนหลักด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจากทั่วโลกที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานร่วมกัน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างหน่วยงานจัดหาเงินทุนทั่วโลก การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสภาวิจัยโลกได้กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนในการทำงานร่วมกัน เปิดโอกาสให้ร่วมอภิปรายถึงหัวข้อที่น่าสนใจร่วมกันและประเด็นที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล และแนวคิด ที่จะชี้ให้เห็นทิศทางในอนาคตของการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาค และความสามารถในการวิจัยนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกัน
โดยในที่ประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ยกตัวอย่างการทำงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับลงไปถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ สร้างผู้ประกอบการในพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 6,000 ราย สร้างรายได้กว่าสองร้อยล้านบาทให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ โดยหวังว่าโมเดลการสนับสนุนทุนแบบสหวิทยาการที่ยึดโยงการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับนี้จะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยทั่วโลกจะได้หยิบยกไปพิจารณา และขยายผลในที่ประชุมประจำปีสภาวิจัยโลกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลางปีหน้าได้ และเห็นได้ชัดเจนว่าการเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมครั้งนี้ของสกสว.พร้อมด้วย วช.และบพค. ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก เป็นประโยชน์และโอกาสอันดีต่อระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่จะได้เรียนรู้จากประเทศสมาชิกรวมถึงได้แบ่งปันประสบการณ์ให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ วิธีการทำงานร่วมกันเช่นนี้ จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ประสบร่วมกันในระดับโลกได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการประชุมประจำปี GRC ครั้งที่ 11 ในปี 2023 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สกสว.
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.