เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาวิชาการ “สร้างพื้นที่เรียนรู้จากอดีตสู่อนาคตเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ, ศ.ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร, อาจารย์ธนภณ วัฒนกุล คณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ, อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ คณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ, ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ, นายโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), นายอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดและผู้อำนวยการสถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา และ ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน หัวหน้าทีมวิจัย โครงการพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 (จตุจักร)
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทำไมต้องพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ” ใจความโดยสังเขปว่า วัยเด็กเป็นวัยที่ต้องมีการส่งเสริมพัฒนาให้เกิดความรู้ความสามารถมากเป็นพิเศษ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของเด็กไทย โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลากหลายบริษัทขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปใช้และพัฒนาต่อ รวมถึงเยาวชนไทยได้คว้ารางวัลจากการแข่งขันในระดับโลกได้หลากหลายรางวัล แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก และนอกจากศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แล้ว เราจำเป็นจำต้องมีความสนใจด้านศิลปศาสตร์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดจินตนาการที่มีความสร้างสรรค์อย่างรอบด้าน
ภายในงานมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ “สร้างพื้นที่เรียนรู้จากอดีตสู่อนาคต เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม” โดย
ศ.เกียรติคุณ ปรีชา กล่าวว่าแนวทางการจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ต้องทำให้เกิดการสังเคราะห์ได้แบบองค์รวม ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอย่าใช้เครื่องมือสำเร็จรูป ต้องให้เด็กได้ลงมือทำจริง
นายโตมร กล่าวว่า พื้นที่เรียนรู้มีลักษณะเป็น ‘อุปทาน’ (Supply) ของความรู้ พื้นที่เรียนรู้จะเป็นเหมือนจุดโฟกัสของความรู้ ที่ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ขึ้นในพื้นที่นี้ และเป็น ‘ปลายทาง’ (Destinations) ของการสร้าง ‘อุปสงค์’ (Demand) ทางความรู้ในสังคม คือเมื่อกระตุ้นให้คนอยากเรียนรู้แล้ว จำเป็นต้องมีพื้นที่เรียนรู้ให้ได้ไปหาความรู้ด้วย
นายอนุพันธุ์ ให้ความเห็นถึงรูปแบบการสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ต้องมีความหลากหลายของแนวคิดศิลปะที่เชื่อมโยงกับเด็กได้อย่างแท้จริง ต้องมองจุดนี้ให้เป็นต้นแบบในการสร้างวิถีศิลปะในชีวิตให้ได้จะส่งผลดีในการขยายไปสู่ระดับเด็ก พ่อแม่ ครอบครัว ชั้นเรียนและกิจกรรมเขิงสร้างสรรค์สร้างความประณีตให้กับเด็กในรูปแบบกระบวนการต่างๆ
ทางด้าน ดร.สรวงมณฑ์ กล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการจัดตั้ง “สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดการจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
โครงการฯ นี้ เริ่มดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้ว มีการศึกษาค้นคว้าในเชิงวิชาการ และลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย และบูรณาการพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน มีเครือข่ายกว่า 30 แห่งจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
ผลจากการศึกษาวิจัยและการลงพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ได้นำมาสู่การดำเนินงานในระดับที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง คือการค้นหาวิสัยทัศน์และพันธกิจของพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้ จะนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การดำเนินโครงการพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.