วันที่ 6 มกราคม 2566 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานฯ พร้อมด้วย ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ รมว.อว.ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลัง อว. กับการพัฒนาภาค พัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 : Regional Research Expo 2023” ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6 - 8 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะนักวิจัย และนักเรียน นักศึกษา ให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย วช. ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” โดยนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาหรือสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอด ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
และรมว.อว. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในการปาฐกถา เกี่ยวกับขนาดเศรษฐกิจของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของโลกจาก 200 ประเทศ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1) มีเกษตรกรรมที่เลี้ยงตนเองได้ หรือเรียกว่า อำนาจทางอาหาร (food power) ซึ่งเป็นอันดับ 12 ของโลก แต่ทั้งนี้เกษตรกรรมที่ยังต้องปรับปรุงโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ต้องเข้ามาช่วยให้เกษตรกรรมทั้งหมดให้ดีขึ้น 2) อุตสาหกรรมของไทย มีต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน ทั้งด้าน data เพราะเราเป็นประเทศที่ใช้ 5.0 มากที่สุดรองจากจีนเท่านั้น รวมถึงอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าก็ขายดีมากในไทย ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้ผลิตเข้ามาลงทุนเยอะ พวกเรามหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมเรื่องการผลิต AI ให้ดีๆ 3) คือเรื่องการท่องเที่ยวที่ดีในระดับโลก เราเป็นมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยวในโลก มีเพียงแค่ 4-5 ประเทศที่มีการท่องเที่ยวที่ดีติดอันดับโลก ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้น และจากเหตุผลทั้ง 3 ประการ อยากให้ส่งเสริม สนับสนุนการทำวิจัย และนวัตกรรม พร้อมการเผยแพร่ไปสู่การใช้ประโยชน์ในภูมิภาค นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่น และเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.