วันที่ 31 มกราคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในกิจกรรมงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 ต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันนักประดิษฐ์" เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและสังคมส่วนรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2566 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้ และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในการนำการวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมของประเทศ
สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในกิจกรรมงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้แก่
1. ผลงาน นวัตปะการัง : ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง
เป็นนวัตปะการังในรูปแบบ Modular Design ด้วยโปรแกรมการออกแบบสามมิติ บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีโครงสร้างที่เหมาะสมขึ้นรูปได้อย่างอิสระโดยใช้ 3D Cement Printing สามารถถอดประกอบ และปรับแต่งโครงสร้างได้ตามความต้องการ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับภาคกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและสังคม โดยการแก้ไขปัญหาด้านมลภาวะทางทัศนาการ ฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังทางทะเลในพื้นที่เสื่อมโทรมด้วยนวัตปะการัง ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ สร้างองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ปะการัง ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนในอนาคต
2. ผลงาน เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง
เท้าเทียมไดนามิกส์ sPace เป็นนวัตกรรมเท้าเทียมที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ทนทาน แข็งแรง มีน้ำหนักเบา เป็นเท้าที่มีความยืดหยุ่น เสมือนมีข้อเท้าที่สามารถงอขึ้นลง และบิดซ้าย-ขวาได้เหมือนเท้าคนปกติ มีความสามารถในการเก็บและปล่อยพลังงานคืนในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้พิการขาขาดที่ยังคงมีความแข็งแรงอยู่ และช่วยให้ผู้พิการสามารถทำกิจกรรม หรือออกไปทำงานนอกบ้านได้มากขึ้น เท้าเทียมไดนามิกส์ sPace ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อจัดทำโครงการกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ "ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม" เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้แจกจ่ายเท้าเทียมไดนามิกส์ sPace จำนวน 78 ขา ให้กับผู้พิการขาขาดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน รวมจำนวน 13 แห่ง
3. ผลงาน การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย
"กระจกเกรียบ" เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากแนวคิด วัฒนธรรมนวัตกรรม โดยฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมในอดีต มาผลิตเป็นนวัตกรรมสิ่งใหม่ การประดิษฐ์กระจกเกรียบตามอย่างโบราณนี้ เป็นการประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคมในวิถีชุมชนอย่างยั่งยืน
4. ผลงาน เส้นโปรตีนไข่ขาวพร้อมทาน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรีทอร์ท
เส้นโปรตีนไข่ขาว 100% นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทยด้วยนวัตกรรม โดยเพิ่มมูลค่าจากไข่ขาวปกติได้สูงถึง 14 เท่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์เส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง ที่บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ได้นำเอานวัตกรรมนี้มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ มากมาย เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น และมีบริษัทผู้ส่งออกสนใจในการนำนวัตกรรมนี้จำหน่ายในประเทศดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ 100 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ภายหลังจากจำหน่าย เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
5. ผลงาน เต่าบินโรโบติกบาริสต้า
นวัตกรรมเต่าบินโรโบติกบาริสต้า เป็นเครื่องชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ โดยได้คิดค้นชุดอุปกรณ์ จับและหมุนแก้ว ซึ่งมีลักษณะการทำงานเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นและสร้างขึ้นโดยคนไทย เพื่อคนไทย มีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาต่อยอดการผลิตเครื่องดื่มแบบชงสด กระจายไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ สามารถคัดสรรวัตถุดิบและส่วนผสมชั้นดี ได้มีการนำวัตถุดิบโดยรวมจากในประเทศไทยเข้ามาใช้ เช่น เมล็ดกาแฟ เป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรจากในประเทศ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับประชาชนคนไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.