2 กุมภาพันธ์ “วันนักประดิษฐ์” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสนับสนุนผลงานสู่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยพร้อมก้าวสู่เวทีในระดับโลก การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และยังเป็นเวทีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ในด้านการประดิษฐ์คิดค้นต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพออกสู่สายตาคนไทยและประชาคมโลก ในปีนี้มีสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงาน บนพื้นที่กว่า 17,000 ตารางเมตร โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเข้าสู่งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ชาติไทยมีนวัตกรรมหรือไม่” พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ผู้บริหาร อว. ผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเว้นท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ชาติไทยมีนวัตกรรมหรือไม่” ว่า "ชาติไทยมีนวัตกรรมหรือไม่" ตอบได้เลยว่ามี ถ้าดูเฉพาะหน้าปัจจุบันมองไปถึงอนาคตจะเห็นว่าทุกวันนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม เวลานี้เรามีนวัตกรรมหลายอย่างทั้งในแง่วิทย์มารวมกับศิลป์ ของเก่ามารวมกับของใหม่ ซึ่งนี่ก็คือนวัตกรรม
นวัตกรรมคือ การทำอะไรให้เกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นของใหม่ สินค้าใหม่ บริการใหม่ วิธีการใหม่หรือกระบวนการใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเน้นไปที่คำว่าใหม่ คำนี้อาจจะทำให้นึกไปถึง 3 คำที่ว่า ปรับเปลี่ยน ปฏิรูป เปลี่ยนจากเก่าไปเป็นใหม่อย่างเป็นระบบและทำไม่กี่เรื่อง แต่ผลที่ได้จะกระจายไปยังแทบทุกเรื่อง โดยทำด้วยสันติวิธี และปฏิวัติ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คำนึงถึงของเก่า ต้องการสร้างสิ่งใหม่อย่างเป็นระบบ คำว่านวัตกรรมจึงใกล้เคียงกับ 3 คำนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ มีคำว่า disruption ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่าปฏิวัติ แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง ไม่มีนัยยะทางการเมืองมากนัก แต่มีความหมายหนักไปทางเรื่องเทคโนโลยี สำหรับเรื่องเทคโนโลยีของโลกในเวลานี้ทำให้เกิดการที่เปรียบเสมือนการปฏิวัติ บางเรื่องที่เรา disruption ของเก่าหายไปเฉยๆ เลย เช่น สมัยก่อนมีกล้องที่ใช้ฟิล์ม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกล้องแบบดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ทำให้คิดได้ว่าบางงานในเรื่องที่เราทำยังมี disruption มีนวัตกรรมไม่พอ ถึงต้องพยายามรับเอาแนวคิดจากตะวันตกเข้ามาแบบง่าย แต่เรานำมาแบบง่ายๆ เราจะต้องพยายามปรับปรุงตรงนี้ต่อไป
วันนี้อยากจะชวนให้คิดว่าชาติไทยของเรามีนวัตกรรมมาตลอด คนไทยเก่งสามารถเป็นนักประดิษฐ์ได้ พร้อมทั้งยังเป็นศิลปินในตัว ซึ่งเก่งทั้งวิทย์และศิลป์ นวัตกรรมของไทยนำเอาความหลากหลายจากนานาประเทศเข้ามา และเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราทำนวัตกรรมขั้นสำคัญคือ การนำเอา 3 กระทรวงเข้ามารวมกัน กลายมาเป็นกระทรวง อว. ที่ใหญ่มาก ซึ่งการทำงานในแต่ละด้านที่ผ่านมาถือว่าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำเป็นอย่างดีเยี่ยม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ หรือ Thailand Inventors’Day ถือว่าเป็นเวทีของนักประดิษฐ์ไทยและนักประดิษฐ์จากนานาชาติ ที่เปิดโอกาสให้นำผลงานมาจัดแสดงและเผยแพร่ผลงานเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ความสามารถออกสู่สาธารณชน ให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์แบบบูรณาการ สู่การสร้างแรงจูงใจให้แก่เยาวชนและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เพื่อแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์และนักวิจัยทุกท่าน ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2566 รวมถึงการมอบเกียรติบัตรและเหรียญรางวัลให้กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาชาติเป็นการแสดงความชื่นชมในความรู้ ความสามารถ ในการศึกษาวิจัย การประดิษฐ์คิดค้นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ วิทยาการสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ของนักประดิษฐ์และนักวิจัยของไทย และจะก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากร สู่การยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้ก้าวสู่โลกยุคใหม่ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ภายในงานจัดให้มี นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ จำนวน 110 ผลงาน นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ จำนวน 29 ผลงาน นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2T นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์ นิทรรศการจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์จากหน่วยงานเครือข่าย 6 กลุ่มเรื่อง จำนวน 249 ผลงาน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว มหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จำนวน 470 ผลงาน จาก 24 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน โครเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ซูดาน ไต้หวัน อังกฤษ เวียดนาม อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (IPITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 2023 มาร่วมจัดแสดงจำนวน 446 ผลงาน ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 245 ผลงาน ระดับอาชีวศึกษา จำนวน 103 ผลงาน และ ระดับอุดมศึกษาจำนวน 98 ผลงาน และยังจัดให้มีการเสวนาและฝึกอบรมอาชีพในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีตลาดสินค้าและนวัตกรรมอย่างครบครันมาให้ได้เลือกชมและเลือกซื้ออีกด้วย
ขอเชิญชวนทุกท่านผู้มีความสนใจเข้าร่วมชมงาน “วันนักประดิษฐ์ 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา หรือ สามารถชมงานผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ http://inventorsdayregis.com
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.