วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถานำ เรื่อง “กิจการนักศึกษา : ความท้าทายในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารงานกิจการนักศึกษา สถาบันสมาชิกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เข้าร่วมงาน ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้เล็งเห็นว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมามีสถานการณ์หลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในทุกระดับ สำหรับในระดับอุดมศึกษาได้รับผลกระทบทั้งตัวสถาบัน ผู้เรียน รวมถึง Stakeholder จึงเป็นภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาการให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้กำกับดูแลนโยบาย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารกิจการนักศึกษา จนนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถาบัน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก รัฐมนตรี อว. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชนเป็นเครือข่ายที่สำคัญ ยิ่งในสภาวะที่สถาบันอุดมศึกษาของประเทศต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงฝากความหวังไว้ที่มหาวิทยาลัยเอกชนว่าจะมีความยืดหยุ่น ว่องไวและนำในเรื่องที่นำได้
เวลานี้มหาวิทยาลัยของไทยไม่ได้มีประเภทเดียวแล้ว แต่แบ่งออกเป็น 4-5 ประเภท ทั้งมหาวิทยาลัยที่ใช้งานวิจัยนำหน้า มหาวิทยาลัยที่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยที่เน้นเทคโนโลยี นวัตกรรม ประดิษฐกรรม และมหาวิทยาลัยที่สอนให้คนเป็นคนดีตามหลักศาสนา ตอนนี้กำลังจะมีมหาวิทยาลัยที่เป็นประเภทของศิลปะ สุนทรีย อารยะ โดยมหาวิทยาลัยแต่ละประเภทจะเก่งในด้านของตนเอง
รัฐมนตรี อว. กล่าวต่อว่า ต่อมาในเรื่องของการขอตำแหน่งทางวิชาการ ปัจจุบันไม่ได้มีแต่การเขียนตำราหรืองานวิจัยแล้ว แต่สามารถนำผลงานที่ตัวเองทำ เช่น ผลงานที่ลงไปทำกับพื้นที่ ก่อเกิดการพัฒนาต่าง ๆ หรือผลงานที่คิดค้นขึ้นใหม่ ไม่มีใครทำมาก่อน จนก่อเกิดประโยชน์ สามารถนำมาขอตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นตำราวิชาการ นี่จึงเป็นการปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งสำคัญ โดยที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกทำ
อีกเรื่องคือตอนที่ได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าที่จีนสนับสนุนให้นักศึกษาทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วย เพราะชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ชีวิตที่เรียนอย่างเดียว แต่เป็นชีวิตที่ทำงานด้วย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งในประเทศไทยก็สนับสนุนให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วย เราควรสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบนี้เป็นอย่างมาก ทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น ตอนนี้รถ EV เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มหาวิทยาลัยเอกชนก็สามารถเปิดหลักสูตรที่เป็นเรื่องทางด้านนี้เฉพาะได้ โดยจับมือกับบริษัทที่ทำเรื่องของรถ EV ร่วมกันสอน ร่วมกันพัฒนาเด็ก ให้เกิดความรู้ด้านใหม่ ๆ "สิ่งที่เราควรจะให้กับเด็ก คือ ต้องให้เด็กรู้จักการเปลี่ยนแปลงของทั้งประเทศ ทวีป ภูมิภาค ต้องรู้เรื่องของอาเซียน เอเชีย ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตก ตะวันออก รวมทั้งจีน" ต้องสอนให้เด็กรักการเรียน รู้จักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเอกชนต้องพยายามจัดหาหลักสูตรประเภทที่ไม่มีปริญญาบัตร เปิดได้เร็ว เปลี่ยนได้เร็ว ปรับได้เร็ว ดึงดูดให้เด็กกลับมาเรียนอยู่เสมอ เพราะวิทยาการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงเร็วมากและจะยังคงเปลี่ยนเรื่อย ๆ แต่เราจะไม่ได้สอนแค่วิชาการ จะต้องสอนวิชางาน วิชาชีวิต รวมถึงวิชาครอบครัวด้วย นอกจากนั้น เราต้องฝึกเด็กให้เห็นถึงความสำคัญของคนทุกวัย รัฐมนตรี อว. กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.