วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรม และการประชุมวิชาการ 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย “Innovation for Sustainable Local Development นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลวัตการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมรภ.เชียงราย และคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การสร้างภูมิทัศน์ใหม่ เพื่อพลิกโฉมงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัย นวัตกรรม และการประชุมวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งงานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยสู่สังคม และการประชุมวิชาการในระดับบัณฑิตศึกษาด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์และผลงานงานวิจัยในชั้นเรียนของนักศึกษาคณะครุศาสตร์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ปาฐกถาโดยชูประเด็นเรื่องความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ที่ไทยเรามีความโดดเด่นสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความแตกแยก แต่นำมาซึ่งความกลมกลืนและกลมเกลียว รมว.อว. กล่าวว่า เราต้องเอาความหลากหลายที่มีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ นอกจากนี้ “ศิลปะ สุนทรียะ อารยะ” นั้นอยู่ใน DNA ของคนไทยทุกคน ทำให้วัฒนธรรมของเรามีความเหนียวแน่น เป็นแต้มต่อของการทำเศรษฐกิจเราให้ยั่งยืนได้ ประกอบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เรามี ทำให้การฟื้นฟู “ศิลปะ สุนทรียะ อารยะ” ที่หายไป กลับมาฟื้นตัวใหม่ได้เร็ว อีกประการหนึ่งคือ เราต้องตระหนักว่า ตาน้ำของ “ศิลปะ สุนทรียะ อารยะ” อยู่ในชุมชน ดังนั้นเราต้องตีโจทย์เรื่องนี้สำหรับการให้ทุนวิจัย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ซึ่งเราจะไม่ทำเป็นแค่การทำอีเว้นท์แบบที่ผ่านมา แต่จะทำให้เป็นกระบวนการ ทำให้เป็น “การวิจัย” ซึ่งนักวิจัยเองก็ต้องเปลี่ยนความคิดอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยมีทฤษฎีรองรับ และสนใจในเรื่องการลงมือทำในภาคปฏิบัติให้มาก สิ่งใดทำแล้วเกิดประโยชน์ก็ทำต่อไป สิ่งใดทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ล้มเลิกไปได้ และงานวิจัยของเราต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และต้องมีการส่งออกไปให้ต่างชาติด้วย โดยเฉพาะในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน สำหรับสถาบันการศึกษา รมว.อว. ได้เน้นย้ำในเรื่องการทำงานร่วมกันป็นเครือข่าย โดยใช้พลังของภูมิภาคขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ เช่น ในภาคเหนือ ให้ทำเรื่อง “ล้านนา” ให้เข้มแข็ง อาจจะพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักสูตรร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยคิดเรื่องใหม่ๆ คิดหลักสูตรใหม่ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย
ภายในงาน รมว.อว. และ ทปษ.รมว. พร้อมด้วยผู้อำนวยการ สกสว. ผู้บริหาร มรภ.เชียงราย และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้มานำเสนอในงาน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบไซรัปเพื่อสุขภาพจากเยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมคุณภาพสูงจากโปรตีนพืชสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนาการตลาดข้าวจาปอนิกาในจังหวัดเชียงราย การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วยแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลาดชุมชน การยกระดับอาหารชาติพันธุ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่กิจกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงราย และเยี่ยมชมงานแสดงผลงานของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ธัชชา เช่น ฟาร์มกวางจังหวัดสุโขทัย ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง การพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืนของประเทศ ของ 9 มทร. กลไกการขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.