กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่มูลนิธิ ดร.สุกรี เจริญสุข ในโครงการดนตรีพื้นถิ่นเพื่อสืบทอดโดยการบรรเลงผ่านวงดนตรีสากลไทยซิมโฟนีออเคสตร้าในหลายจังหวัดอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดได้จัดการแสดง ในชุด อมตะสยามที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติร่วมงานคอนเสิร์ตและชมการแสดงตลอดมา
เมื่อเย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิ สุกรี เจริญสุข ได้เชิญ ศ.(พิเศษ)ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวง อว.พร้อมด้วย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและคณะเดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารี ซึ่งดำเนินงานโดย มูลนิธิ สุกรี เจริญสุข ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 และร่วมชมการแสดงดนตรี จาก นักดนตรีอัจฉริยะที่มีความสามารถพิเศษรายแรกของประเทศไทย จนสามารถนำวิชาดนตรีไปประกอบอาชีพได้ คือน้องวุฒิ หรือ ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จ ชั้นปีที่ 4 และ น้องซิน หรือ จิรัชญา ศรีนคร ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 2 นับเป็นอีกผลงานของมูลนิธิฯ
ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรี อว. กล่าวแสดงความชื่นชม ดร.สุกรี เจริญสุข ว่า ถือเป็นปูชนียบุคคลในด้านการดนตรีระดับชั้นแนวหน้าของประเทศไทย และยังได้เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ทำให้เด็กพิเศษได้แสดงความสามารถ เป็นไปตามที่ตนเคยพูดเสมอว่า ประเทศไทยมีคนเก่งอยู่มาก มีต้นทุนที่ดี อยู่ที่โอกาสในการสนับสนุน การได้เห็นนักดนตรีหลายคนในวันนี้ เชื่อว่าจะสามารถหารายได้จากการแสดงดนตรีได้เป็นอย่างดีในส่วนของ กระทรวง อว.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุนวิจัย ผ่าน วช.และมีความยินดีที่ วช.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ดร.สุกรี เจริญสุข เพราะงานวิจัยไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น 3ปีที่ผ่านมา เมื่อตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อว.ได้ทำให้งานวิจัยมีทั้งการวิจัยด้านดนตรี ด้านอาหาร และวัฒนธรรมพื้นถิ่น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายและเชื่อว่ารัฐบาลหน้า ถ้าตนยังมีโอกาสก็จะสานงานที่จะเป็นประโยชน์ให้กับบ้านเมืองต่อไป
ด้าน ประธานมูลนิธิ สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับมอบหมายจาก อธิการบดีในยุคนั้นให้จัดทำหลักสูตร ดนตรีบำบัด โดยการใช้ดนตรีเพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่บุคคลผู้เปราะบางและพิการ แต่หลังพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ หลักสูตรดังกล่าวไม่ได้รับการสานต่อ จึงตัดสินใจมาตั้งโรงเรียนดนตรีในชื่อ เอื้อมอารี เปิดสอนเด็กตั้งแต่อายุ 0 - 3 ขวบ และเป็นโรงเรียนแห่งเดียวในประเทศไทยที่สอนเด็กอายุ 0 - 3 ขวบ ขณะนี้มีนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่รัศมีประมาณ 200 เมตร รวม 700 คน ดร. สุกรี เจริญสุข กล่าวย้ำว่าปัจจุบันทางโรงเรียนเอื้ออารี นอกจากจะเปิดสอนดนตรีแก่ผู้สนใจตั้งแต่เยาว์วัย จนมีความผูกพันทั้งกับพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็กที่เรียนแล้ว ทางโรงเรียนได้เปิดการแสดงคอนเสิร์ตให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าชมเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็จะได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างอบอุ่นตลอดมาผ่านการจองที่นั่งจำนวนจำกัด
“มูลนิธิฯ ไม่มีรายได้จากสิ่งที่ทำ คนมักจะคิดถึงเราเสมอเวลาไม่มีเงินก็มาขอให้เราช่วย แต่เวลามีเงินก็ไม่ได้คิดถึงเราอีก แต่ทุกวันนี้ที่ยังทำงานสานต่อทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิจัยดนตรีพื้นถิ่นเพื่อถ่ายทอดสู่สากลในรูปแบบวงไทยซิมโฟนีซึ่ง วช.ให้ทุนสนับสนุนการจัดตั้งวงปล่อยแก่ที่นำผู้สูงวัยมาใช้เวลาว่างเล่นดนตรีและการจัดตั้งโรงเรียนสอนดนตรีเอื้ออารี ตั้งแต่วัย 0 - 3 ปี เป็นสิ่งที่ยังมุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่รู้สึกท้อแท้
ซึ่งการเชิญรัฐมนตรี อว.และผู้อำนวยการ วช.มาในครั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงสิ่งที่เราได้ทำโดยเฉพาะงานในด้านการสอนดนตรีให้แก่เด็กพิเศษ ซึ่งถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างงดงาม การที่คนระดับรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ วช.มาเยี่ยมชมงานในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ไฮไลต์ของการแสดงดนตรีครั้งนี้ อยู่ที่ การแสดงของน้องวุฒิ มือกลองซึ่งเป็นเด็กพิเศษที่พ่อแม่พาเข้ามาเรียนตั้งแต่ 6 ขวบ ปัจจุบันสามารถเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท และน้องซิน เล่นกีต้าร์ คู่กัน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.