(1 มีนาคม 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/256 ณ ห้องประชุม 3B อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม
ดร.เอนก กล่าวว่า ปัจจุบันเราพยายามที่จะเน้นการศึกษาที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศหรือของโลก ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งของโลกพบว่า เขายอมรับในศักยภาพของประเทศไทย เช่น การท่องเที่ยว ด้านการโรงแรม ตลอดจนถึงการจัดการสาธารณสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถที่จะพัฒนาเป็นหลักสูตร และพัฒนากำลังคนส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันจำนวนนักศึกษาน้อยลงเนื่องจากประชากรในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการดึงบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว กัมพูชา พม่า ไทยใหญ่ อินเดีย บังคลาเทศ เข้ามาศึกษาในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นด้วย และเพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยจุดเด่นของไทย อยากให้เราปรับแนวคิดและร่วมกันหาแนวทางพัฒนาให้เกิด Export higher education ของไทยขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างสิ่งดี ๆ ส่งออกไปยังประเทศอื่นในโลกได้
“ทั่วโลกยอมรับว่า โรงแรมของเราดีที่สุดในโลก แต่หลักสูตรการท่องเที่ยวของไทยกลับไม่ดัง ทั่วโลกไม่รู้จัก เพราะเราแปลหลักสูตรของฝรั่งมาเรียนกัน ดังนั้นเราควรจะให้มหาวิทยาลัยทำหลักสูตรท่องเที่ยวกับโรงแรมดังระดับโลก และส่งนักศึกษาไปฝึกงานและเมื่อเรียนจบก็ได้ทำงาน เช่นเดียวกับหลักสูตรศิลปะ สุนทรียะ ของเราก็ทำได้ดีมาก ถึงเวลาแล้วที่จะปรับหลักสูตรเพื่อส่งออกสิ่งดี ๆ ให้กับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตามศักยภาพที่เรามีจริง ๆ ถ้าเราเดินในก้าวที่เท่า ๆ กันกับประเทศอื่น ๆ เราไม่มีทางตามทัน เราต้องก้าวให้ยาวกว่า ถ้าไปตามทางปกติไม่ได้ ก็ต้องไปทางลัด ทางเลี่ยง ทางเบี่ยงและหาอะไรเป็นแต้มต่อให้กับประเทศ” ดร.เอนก กล่าว
รมว.อว. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เราควรใช้จุดแข็งที่โลกยอมรับว่า ประเทศไทยมีความน่าอยู่ คนไทยมีนิสัยน่ารัก เราจะทำอย่างไรให้เกิดการท่องเที่ยว/พำนักระยะยาว หรือ Long stay ให้มากขึ้น มีการดึงนักวิจัย และนักปฏิบัติด้าน ต่าง ๆ มาอยู่ในประเทศของเราเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้เรามีโดยไม่รู้ตัว โจทย์วิจัยคือ ทำอย่างไรให้จุดแข็งเหล่านี้สามารถคงอยู่ได้ต่อไป อาจจะหาพื้นที่เพิ่มเติมไปจากจังหวัดที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องวิจัยเพิ่มเติมคือ การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่จะสามารถระบุได้ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีอายุแค่ 700 ปี แต่มีมาตั้งแต่ ทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ที่มีอายุ 1,500 ปี และหากวิจัยได้ลึกถึง สุวรรณภูมิ ก็จะมีอายุถึง 2,500 ปี จะสามารถอธิบายประเทศไทยด้วยอารยธรรมโลกได้ง่ายขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อีกมาก ดังนั้นจึงควรเพิ่มการวิจัยระดับโลก ระหว่างนักวิจัยไทยกับนานาชาติให้มากขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
โทรศัพท์ 02 109 5432 ต่อ 419 มือถือ 06-4474-1696 (กชวรรณ) 081 753 6119 (แพรประพันธ์)
Email: pr@nxpo.or.th / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.