เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี พร้อมด้วยนายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ผู้บริหาร บุคลากรทั้งสามหน่วยงานเข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่ทำงานได้ทันโลก ล่าสุด ได้จัดตั้งให้มีวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ “ธัชวิทย์” ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยให้มาทำงานร่วมกัน เช่นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่มีทั้ง วว. วช. และ มทร.ธัญบุรี เข้ามาร่วมมือกันผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอก โดยนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาต้นแบบบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model โดย วว. เป็นสถาบันวิจัยที่มีเครื่องมือ วิทยาการที่ทันสมัย และทำงานด้านการวิจัยแบบ 100% ปัจจุบันยังได้ร่วมงานกับภาคธุรกิจมากมาย ส่วน วช. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในทุกมิติ ซึ่งสามารถตอบสนองนโยบายของกระทรวงได้เป็นอย่างดี ด้าน มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตระหนักถึงการทำงานและผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ประเทศและสังคมมากขึ้น เรามีความเป็นเลิศทางวิชาการและต้องมีความเป็นเลิศในภาคปฏิบัติ โดยผลิตหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ประเทศมากขึ้น
“การปฏิบัติจะเก่งแค่ไหน อยู่ที่ว่าวิชาการเราดีแค่ไหน ตอนนี้ภาคการศึกษากับภาควิจัยต้องผนึกกำลังกัน เพราะทฤษฎีกับปฏิบัติต้องไปด้วยกัน ความร่วมมือในครั้งนี้คือการเห็นโอกาสในการทำงานร่วมกัน และต้องขยายความร่วมมือไปยังภาคเอกชนและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะจะทำให้เราก้าวได้ยาวขึ้นและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ทั้งสามหน่วยงานจะดำเนินการร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การสร้างบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งในแง่วิชาการ อุดมศึกษา และผู้ใช้ประโยชน์เข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของธัชวิทย์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของ รมว.อว. สำหรับความร่วมมือนี้มีระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 5 ปี โดย มทร.ธัญบุรี เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาและให้ความรู้ในวิชาที่มีความเกี่ยวข้องแก่นักศึกษา วว. เป็นผู้จัดหาบุคลากรที่จะเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะขั้นสูงแก่นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก และ วช. เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาและยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงถือเป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน BCG Economy Model ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.